เจ้าหน้าที่ รพ.สต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ลงพื้นที่ควบคุมการระบาดโรคหัดหลังพบผู้ป่วยแล้ว 4 คน พร้อมเผย ขณะลงพื้นที่ผู้ปกครองถึงขั้นทำร้ายลูกตนเองเพื่อกันไม่ให้รับการฉีดวัคซีน

วันที่ 10 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีการระบาดของโรคหัดในพื้นที่ 8 อำเภอ ในพื้นที่ จ.ยะลา เป็นผลให้มีเด็กเสียชีวิตแล้วจำนวน 5 คน รวมถึงมีผู้ป่วยอีกกว่า 200 คน โดยล่าสุดนายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง มอบหมายให้นางเจนจิรา ดาดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง น.ส.นางสาวสุไลลา ดะแซสาเมาะ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง นำเจ้าหน้าที่ รพ.สต.อัยเยอร์เวง ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครลงพื้นที่บ้าน กม.29 หมู่ที่ 1 และบ้าน กม. 36 หมู่ที่ 3 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อควบคุมการระบาดโรคหัดในหมู่บ้านดังกล่าว โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรคและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคหัด

โดย น.ส.สุไลลา กล่าวว่า โรคหัดสามารถพบได้ทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยเชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ก็ทำให้เป็นโรคได้ถ้าหากไม่มีภูมิต้านทาน สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

สำหรับอาการของโรคหัดนั้น จะเริ่มจากการมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง ซึ่งอาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับมีไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 โดยมีลักษณะผื่นนูนแดงติดกัน โดยจะขึ้นบริเวณใบหน้า และกระจายไปตามลำตัว แขน ขา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 วัน ผื่นก็จะแพร่กระจายไปทั่วตัว

ส่วนการป้องกันทำได้โดยการให้วัคซีนป้องกันโรค จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และในช่วงการระบาด ขอให้ ผู้ปกครอง เฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น

นอกจากนี้ น.ส.สุไลดา ยังกล่าวอีกว่า ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ชาวบ้านซึ่งนับถือศาสนาอิสลามบางกลุ่มแสดงการต่อต้านการฉีดวัคซีนโรคหัดให้กับเด็ก เพราะมีความเชื่อที่ว่าวัคซีนดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยเชื่อว่ามีสารสกัดจากหมูเป็นส่วนผสม โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 ต.ค. 2561) ขณะที่เจ้าหน้าที่ รพ.สต. กำลังให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคหัด มีผู้ปกครองรายหนึ่งเดินเข้ามาทำร้ายลูกของตัวเองเพื่อกันไม่ให้รับการฉีดวัคซีนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แม้ที่ผ่านมาจะเคยลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา และประชาชนบ่อยครั้งว่าการรับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในเด็กมุสลิมสามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคหัด แต่ก็ยังคงมีบางกลุ่มที่ปฏิเสธและต่อต้าน

ขณะที่นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ทางสาธารณสุขอำเภอเบตง ได้ควบคุมการระบาดโรคหัดในพื้นที่ ด้วยมาตรการ 323 “หาให้ครบ ฉีดให้ทัน” ลงพื้นที่เชิงรุกดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อลงสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน ในส่วนของผู้สัมผัสโรค ได้แก่ ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วย ในโรงเรียน ที่ทำงาน ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดคลุกคลี และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลสัมผัสผู้ป่วย

(อดินันท์ / ยะลา)