สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "การเมืองกับความสุขประชาชน" พบว่า ค่าความสุขของประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.14 จากคะแนนเต็ม 10

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "การเมืองกับความสุขของประชาชน" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,144 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงภาพรวมของประเทศไทย เปรียบเทียบกับช่วงขัดแย้งการเมืองรุนแรงบานปลาย ก่อนรัฐบาลและ คสช. ได้เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ระบุว่า ดีขึ้นมากกว่าช่วงขัดแย้งการเมืองรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ ร้อยละ 24.9 ระบุว่า ไม่ดีขึ้น และร้อยละ 12.3 ไม่มีความเห็น

ที่น่าสนใจคือ บทบาทการเมืองที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.4 ระบุว่า แก้ปัญหาปากท้อง หาทางเพิ่มรายได้ประชาชน
รองลงมาคือ ร้อยละ 78.9 ระบุว่า เป็นตัวแทนช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ทำบ้านเมืองสงบสุข
ร้อยละ 73.5 ระบุว่า หาคนซื่อสัตย์สุจริตทำงานการเมือง
ร้อยละ 60.7 ระบุว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาต่อเนื่อง
ร้อยละ 55.3 ระบุว่า เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
ร้อยละ 54.6 ระบุว่า ไม่ก่อม็อบ ปิดถนน สร้างเดือดร้อนประชาชน
และร้อยละ 23.7 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น เป็นผู้นำแก้ปัญหาเดือดร้อน เข้าถึงประชาชน รวดเร็วฉับไว ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ปัญหาอะไรที่ต้องการให้การเมืองแก้ไขเร่งด่วน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพ หนี้สิน รายได้ตกต่ำ รายจ่ายสูงขึ้น
ร้อยละ 67.2 ระบุว่า ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดหนักในชุมชนและสถานบันเทิง
ร้อยละ 65.5 ระบุว่า อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัย
ร้อยละ 61.9 ระบุว่า อุบัติเหตุ ความปลอดภัยทางถนน
ร้อยละ 58.2 ระบุว่า ปัญหาการศึกษา คุณภาพเด็กและเยาวชน
ร้อยละ 47.6 ระบุว่า แก้ไขบริการด้านสุขภาพ โรงพยาบาล ร้อยละ 44.3
ระบุว่า ปัญหาบริการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำปะปา และโทรศัพท์
ร้อยละ 43.8 ระบุว่า มลพิษ ขยะ น้ำเน่า
ร้อยละ 39.9 ระบุว่า ภัยพิบัติ น้ำท่วม
และ ร้อยละ 20.5 ระบุว่า อื่นๆ ได้แก่ สังคมเสื่อม คนไร้น้ำใจ เห็นแก่ตัว เด็กแว้น ซิ่ง บ่อนการพนัน อิทธิพล ปัญหาตกงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลวิเคราะห์ความสุขของประชาชน เมื่อนึกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ พบว่า ค่าคะแนนความสุขผ่านเส้นแบ่งกลางความสุขของประชาชนอย่างฉิวเฉียด คือความสุขของประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.14 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน