รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันครูต้องชำระหนี้ ช.พ.ค. หากไม่ชำระหนี้ถือว่า ผิดกฎหมาย ด้านศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เผยกลุ่มครู ในคลิปที่ออกมาปฏิญญามหาสารคาม ไม่จ่ายหนี้ เป็นคนส่วนน้อยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

จากกรณีที่กลุ่มวิชาชีพครู รวมตัวกว่า 100 คน รวมตัว ประกาศ"ปฏิญญามหาสารคาม " เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และยังประกาศชักชวนลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศ 450,000 คน ยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม นี้

ล่าสุด นายครรชิต วรรณชา ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า การที่กลุ่มครูออกมาเคลื่อนไหว เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ตนมองว่าไม่เหมาะสม โดยกลุ่มครูที่ออกมาเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

หลังเกิดคลิป จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ทั้ง ผู้อำนวยการกลุ่ม และนิติกร ตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดเผยอีกว่า ในอดีตที่ได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการเขตการศึกษา ได้เคยทำบันทึกข้อตกลง หรือ MOU กับ ทางธนาคารออมสิน และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค. ) ในแต่ละจังหวัด ว่า เมื่อครู ยื่นกู้และได้รับเงินตามสิทธิ์แล้ว พันธะที่ต้องดำเนินการคือเรื่องหนี้สิน

ซึ่งก่อนหน้านี้พี่น้องครูอาจจะยังไม่เดือดร้อน แต่หลังจากที่เกษียราชการ เงิน เงินที่หักจ่ายในแต่ละเดือน อาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมา ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงของแต่ ละฝ่าย ช่วยประนีประนอมไกล่เกลี่ยเรื่องนี้มาโดยตลอด

และเรื่องดังกล่าว ตนเองไม่ต้องการให้ถึงขั้นฟ้องร้อง และมองว่าเรื่องราวดังกล่าว ส่งผลต่อภาพลักษณ์ข้าราชการครู เห็นว่า ยังมีอีกหลายทางออก ซึ่งในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม จากข้อมูลพบว่า ข้าราชการครูที่อยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ชำระหนี้ เป็นคนกลุ่มน้อย ร้อยละ 5 เท่านั้น

 

ศึกษาธิการเผยตัวเลขครูเรียกร้องพักหนี้ ช.พ.ค. เป็นเสียงส่วนน้อย

ขณะที่ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า โครงการเงินกู้ ช.พ.ค. เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดหนี้ครู มีข้าราชการครูกู้ยืมกว่า 9 แสนคน ชำระหนี้ครบเกินครึ่งแล้ว เหลือที่ยังไม่ชำระหนี้อีก 480,000 คน ในจำนวนนี้เป็นครูที่มีปัญหาหนี้สินและออกมาสร้างกระแสชวนครูคนอื่นให้ไม่จ่ายหนี้ 2 หมื่นกว่ารายเท่านั้น

ย้ำว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ช่วยกันหาทางออกและแก้ปัญหาหนี้สินครู และมีโครงการ ออกมาช่วยหลายโครงการ และก็ไม่ได้เก็บดอกเบี้ยสูง ล่าสุดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ มีการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระเงินต้น 3 ปี แต่ดอกเบี้ยยังเดินหน้าต่อ ให้แล้ว สำหรับกลุ่ม 4 แสนคน ที่เป็นลูกหนี้ที่ดี ก็จะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

และขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุด เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและกำลังอยู่ระหว่างเจรจากรณีการทำประกันชีวิต ที่บริษัทประกันจะต้องให้สิทธิพิเศษ หรือส่วนลดแก่สมาชิก ช.พ.ค.และ ช.พ.ส.มากกว่าบุคคลทั่วไป อยากให้สังคม มองว่า ครูกลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะ ครูที่มีความรับผิดชอบ และเป็นตัวอย่างที่ดี มีจำนวนมาก

 

รมว.ศธ.ชี้พักชำระหนี้ครูไม่ได้ ผิดกฎหมาย

ขณะที่ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามเรื่องนี้ ได้อธิบายชี้แจงให้ทราบเรียบร้อยแล้วครู เป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้ ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย และตนไม่มีอำนาจในการพักชำระหนี้ให้ใครได้ เพราะอำนาจเป็นของธนาคารออมสิน ขณะนี้ได้ประสานกับธนาคาร ชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

 

ธ.ออมสิน เตรียมฟ้องร้องกลุ่มครูเป็นบุคคลล้มละลาย หากไม่ชำระหนี้

ขณะที่ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารคงไม่ต้องไปหารือชี้แจงอะไร เพราะลูกหนี้ออมสินในโครงการ ช.พ.ค. ส่วนใหญ่ 99% เป็นลูกหนี้ที่ดี มีเพียงไม่ถึง 1% ที่มีปัญหาและไม่อยากผ่อนชำระคืน

แต่หากผู้กู้หยุดชำระหนี้ ก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการ คือ ต้องฟ้องร้อง หากกลุ่มครูถูกฟ้องร้อง กลายเป็นบุคคลล้มละลาย จะขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการ ต้องออกจากราชการ ไม่สามารถทำนิติกรรมสัญญาได้

 

นายกฯไม่เห็นด้วย "ครู" ยุติชำระหนี้  ให้ ศธ.เร่งแก้ปัญหา

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ถึงกรณีที่กลุ่มครูเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้ว่า จากการสอบถามรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ทราบว่า มีการเจรจากับทางธนาคารออมสิน ได้ข้อยุติหลายอย่าง เช่น การลดดอกเบี้ย การแก้ไขเรื่องประกันชีวิต สำหรับ"ครูส่วนใหญ่ชำระหนี้ดี

แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับการยุติชำระหนี้ ซึ่งไม่อยากให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจกัน

 

รองปลัดยุติธรรม ชี้ครูเบี้ยวหนี้เสี่ยงถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย

ขณะที่ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อการถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องให้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย โดยเฉพาะกรณีบุคคลที่มีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท

และ ผู้ที่ค้ำประกันจะกลายเป็นบุคคลล้มละลายตามไปด้วย หากผลคำพิพากษาออกมา ให้ลูกหนี้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย จะทำให้บุคคลนั้นขาดคุณสมบัติในการเป็นข้าราชการ ส่งผลให้ต้องออกจากราชการตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีการถูกสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายจะมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็จะถูกปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยกเว้นกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนี้ ก็อาจจะขยายเวลาเป็น 5 หรือ 10 ปีได้

 

ชมรมข้าราชการครูฯขอร้องสังคมหยุดประณามครูออกมาปฏิญญา

ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มครูที่ออกมา "ปฏิญญามหาสารคาม " ล่าสุด นายสุวัช ศรีสด ประธานชมรมข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤติ บุคคลในคลิป ได้ขอร้องให้สังคม หยุดประณามครูเรื่องหนี้สิน และการพักชำระหนี้ เพราะสิ่งที่ครูสะท้อนปัญหาที่เผชิญกับการแบกรับดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสูงถึง 6.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาระที่หนักเกินจะแบกรับได้ไหว

จึงขอให้ สกสค. เจรจากับธนาคารออมสิน แก้ปัญหา ด้วยการรวมหนี้สิน ที่ครูเป็นหนี้อยู่หลายทาง ทั้งกับ ธนาคารออมสิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้สินอื่นๆ แล้วลดดอกเบี้ย รวมถึงให้ขยายเวลาผ่อนชำระ ส่วนที่ออกมาเคลื่ือนไหว การเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ ที่เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เมื่อหักเงินกู้ ไม่มีเงินพอเลี้ยงชีพ

ศึกษาธิการ จ.มหาสารคมชี้คณะครู "ปฏิญญามหาสารคาม" ได้แต่ไม่เหมาะสม