กองทัพไทยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดวินัย" ร้อยโท ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา" หลังจากพบอาวุธปืน และกระสุนปืนจำนวนมากในบ้านพัก ด้าน"ร้อยโท ฐิติทัศน์"เตรียมเข้าให้ปากคำกับตำรวจในวันจันทร์ที่ 21 พ.ค.นี้

พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีตรวจค้นบ้าน ร้อยโท ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา ทหารสังกัดศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย หลังสืบทราบว่า มีการโอนเงิน 25 ล้านบาทจากพระผู้ใหญ่ วัดดังในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปเข้าบัญชีของ แม่บ้าน และอาจมีความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตเงินทอนวัด จนสุดท้ายตรวจยึดอาวุธปืน22กระบอก และกระสุนกว่า 1 พันนัด

โดยพลตำรวจเอก ศรีวราห์กล่าวว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างการติดต่อต้นสังกัดของ ร้อยโท ฐิติทัศน์ และล่าสุดทราบว่าได้ส่งหนังสือแจ้งมายังพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อเข้าให้ปากคำในวันจันทร์ที่ 21 พ.ค.นี้

ในส่วนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนทั้งหมด เจ้าหน้าที่นำส่งตรวจที่กองพิสูจน์หลักฐาน ต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อตรวจพิสูจน์ตัวเลขปืนว่า จดทะเบียนในนามใครบ้าง ส่วนแม่บ้านที่บ้าน ร้อยโท ฐิติทัศน์ เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนในฐานะพยาน เมื่อสอบเสร็จก็ปล่อยตัวกลับ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัว

 

กองทัพไทยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดวินัย"ร.ท. ฐิติทัศน์"

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา พลอากาศเอก สุทธิพงษ์ อินทรียงค์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลงนามในคำสั่งกองบัญชาการกองทัพไทย เรื่องให้ ร้อยโท ฐิติทัศน์ นิพนธ์พิทยา นายทหารประจำ ศรภ. พ้นช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานเสนาธิการทหาร ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2561 เป็นต้นไป

พลอากาศเอก สุทธิพงษ์ ยังลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของ ร้อยโทฐิติทัศน์ โดยมอบหมายให้พลอากาศโท วีรพงษ์ นิลจินดา เจ้ากรมกำลังพลทหาร เป็นประธานกรรมการสอบสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดวินัยหรือวินัยร้ายแรงหรือไม่ ก่อนทำข้อเสนอแนะให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทราบโดยด่วน

 

ป.ป.ช.เผยโทษโกงคดีเงินทอนวัดอาจถูกจำคุกถึง200ปี

ขณะที่พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีทุจริตเงินทอนวัด ว่า ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปทั้งหมด 13 สำนวน จำนวน 13 วัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐในการทุจริตเงินในวัดต่างๆ โดยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน

ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าพยานหลักฐานใดที่ใช้ร่วมได้ก็ให้นำมาใช้ได้ในสำนวนอื่นๆ เพื่อลดเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน เชื่อว่า ป.ป.ช.จะสามารถทำได้รวดเร็ว เพราะมีข้อมูลหมดแล้ว

ทั้งนี้ บางสำนวน ป.ป.ช.ยังสามารถพิจารณาในกรณีร่ำรวยผิดปกติได้อีกด้วย เพื่อพิจารณาว่า ยึดทรัพย์สินคืนรัฐตามมูลค่าที่มีการทุจริต

ซึ่งใน 13 สำนวนดังกล่าว มีชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ซ้ำๆกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เช่น ผอ.พศ. และรองผอ.พศ. แต่ในการพิจารณาคดีจะพิจารณาต่างกรรมต่างวาระไป แต่ละสำนวนไป ในขณะที่ศาลจะพิจารณาลงโทษเป็นรายกระทงไปเช่นกัน

สำหรับโทษสูงสุดในแต่ละคดี คือจำคุกไม่เกิน 50 ปี แต่หากถูกนำโทษของแต่ละสำนวนมารวมกันโทษก็อาจจะสูงสุดถึง 200 ปีได้ แต่ในกระบวนการทางราชทัณฑ์อาจจะมีการลดหย่อนแล้วแต่ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

โดยมั่นใจว่าเรื่องนี้จะดำเนินการพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคดีจะสามารถสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยได้ภายในปีงบประมาณปีนี้ หรือราว 2-3 เดือนนี้

"ร้อยโท"โยงคดีเงินทอนวัดเตรียมเข้าพบตำรวจให้ปากคำ 21 พ.ค.