กลุ่มเครือข่ายแรงงานไทย ยังไม่พอใจกับมติขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศแบ่งเป็น 7 กลุ่ม เฉลี่ย 5-22 บาท ยืนยันค่าจ้างต้องขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ เตรียมนัดหารือเคลื่อนไหว 22 ม.ค.นี้ ด้านปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันเหมาะสมแล้ว และ จะไม่มีการทบทวนอีก

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มติบอร์ดค่าจ้าง ปรับเพิ่มค่าจ้างรายวันขั้นต่ำประจำปี 2561 ทั่วประเทศ เฉลี่ย 5-22 บาทว่า ล่าสุดได้สรุปรายละเอียดเสนอ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พิจารณาลงนาม เพื่อเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยที่ประชุมได้ขอให้ค่าจ้างอัตราใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 61 เป็นต้นไป เพื่อให้เวลานายจ้างหรือผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมตัว 

ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลาพิจารณานานกว่า 7 ชั่วโมงนั้น เพื่อความรอบคอบ และ คิดพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการตกลงเห็นพ้องกันอย่างสมานฉันท์ ไม่ได้ลงคะแนนเสียงใดๆ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ได้พิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ ดัชนีผู้บริโภค อัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจต่างๆแล้ว ยืนยันว่า เหมาะสม และจะไม่มีการทบทวนอีก 

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท.เตรียมจัดประชุมเร่งด่วนร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวในวันที่ 22 มกราคมนี้ โดยยังยืนยันในจุดยืนว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ มองว่า การเคาะค่าจ้างไม่ได้เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) คือ ทำงาน 1 คน ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้อีก 2 คน แรงงานจึงจะอยู่ได้ หากบอร์ดค่าจ้างปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันที่ 330 บาททั่วประเทศ ทางเครือข่ายก็จะยอมรับได้ แต่การแบ่งอัตราค่าจ้างเป็น 7 กลุ่ม ทางเครือข่ายยังไม่เห็นด้วย ทำให้เครือข่าย เห็นว่าต้องเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้าง ประจำปี 2561ต่อไป

ปลัดแรงงานยันไม่ทบทวนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ-เครือข่ายฯนัดถก 22 ม.ค.