วานนี้ (10 ม.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน ได้มีการประชุมคณะกรรมการในคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อสรุปเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมรับหลักการให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่งประเทศ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะปรับในอัตราเท่าใด รอประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง 17 ม.ค.นี้

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยภายหลังการประชุม ในที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่รับในหลักการ ว่า จะต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด แต่ไม่ได้เท่ากันทุกจังหวัด โดย คณะกรรมการฯขอให้ไปจัดทำตัวเลขอีกครั้ง โดยพิจารณาจาก 1.จัดกลุ่มจังหวัดที่มีสภาพ ใกล้เคียงกัน 2.รายได้การเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจที่มีตัวเลขใกล้เคียงกัน และ 3.พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) และ ปริมณฑล

จากนั้นจะนำกลับมาประชุมกันอีกครั้งในเย็นวันที่ 17 ม.ค.นี้ โดยยืนยันว่า การประชุมในวันที่ 17 ม.ค.นี้ทุกอย่างต้องจบ

นายจรินทร์ ยังกล่าวถึงการปรับอัตราค่าจ้างสูงสุดที่มีการเสนอเข้ามาว่า ในที่ประชุมยังไม่มีการสรุปว่า ต้องปรับอัตราค่าจ้างสูงสุดเท่าไร แต่ที่ประชุมถกเถียงกันว่า อัตราตัวเลขการขึ้น 2 บาท น้อยเกินไป ดังนั้นตัวเลขต่ำสุดน่าจะมากกว่า 2 บาท แต่เรื่องตัวเลขสูงสุดตนยังไม่อยากพูดออกไปก่อน **ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า สิ่งที่เรียกร้อง คือ ให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ในอัตราเท่ากันทุกจังหวัด แต่เมื่อการประชุมระบุว่า ขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากันทุกจังหวัด ทำให้ผิดหวังมาก และ ที่ต้องเลื่อนการประชุมออกไปอีกครั้งนั้น ก็ไม่ได้ผิดจากที่คาดหมาย

เพราะที่ผ่านมาก็เลื่อนการประชุมมาตลอด โดยยืนยันว่า จุดยืนของกลุ่มยังต้องการให้มีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันของแต่ละจังหวัดในปัจจุบันไม่เท่ากัน หลังจากเมื่อปี 2560 ได้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิม 300 บาททั่วประเทศ

ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดขณะนี้ คือ 310 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต

ส่วนใน 13 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี และชลบุรี มีค่าจ้างขั้นต่ำ 308 บาทต่อวัน ขณะที่ใน 49 จังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน และตาก มีค่าจ้างขั้นต่ำ 305 บาทต่อวัน

ส่วน 8 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2560 ได้แก่ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ทำให้ยังมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน

ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัดที่ 360 บาท

มติบอร์ดคกก.เห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัด รอเคาะตัวเลข 17 ม.ค.