จากปรากฎการณ์เงินบริจาคเพื่อโรงพยาบาล11 แห่ง กว่า 1,200 ล้านบาท จากโครงการก้าวคนละก้าว รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า งบประมาณจากโครงการนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แผนงานของโรงพยาบาล เดินหน้าได้เร็วขึ้น

การวิ่งถึงเส้นชัยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 25 ธันวาคม ของนายอทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" และทีมงาน โครงการก้าวคนละก้าว พร้อมยอดเงินบริจาคจำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อมอบให้โรงพยาบาล 11 แห่ง ถือเป็นปรากฎการณ์แรก ที่มีเงินบริจาคเข้าระบบสาธารณสุขแบบก้าวกระโดด

สาเหตุหนึ่งที่นักร้องดัง ออกมาวิ่งหาเงินบริจาคให้โรงพยาบาลของรัฐ คือ ปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล ที่ในแต่ปี จะได้รับงบประมาณจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ เงินจากกระทรวง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเงินลงทุน เพื่อใช้ในการสร้างอาคาร หรือจัดซื้อครุภัณฑ์ และเงินค่าใช้จ่ายในการให้บริการประชาชน จากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ซึ่งส่วนนี้จะรวมเงินเดือนบุคลากรของโรงพยาบาลด้วย

โดยการจัดสรร จะประเมินจากจำนวนประชากรในพื้นที่ของโรงพยาบาล แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพ และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่สูงขึ้น ในบางครั้งงบประมาณที่จัดสรร จึงไม่สมดุลการการใช้งานจริง

ปัญหาที่สะท้อนออกมา แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) พ.ศ.2560-2564 โดยจัดสรรบุคลากร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในสังกัดที่มีมากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ ตามความจำเป็นด้านสุขภาพที่แท้จริงในพื้นที่

เพื่อให้ประชาชน ได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ ทันสมัยได้มาตรฐาน ตามเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการรณรงค์ให้คนรักสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วย ซึ่งก็เป็นเจตนาเดียวกับที่ตูน บอดี้สแลมออกมาวิ่งรณรงค์ให้คนรักสุขภาพ เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล

ส่วนเงินบริจาคกว่า 1,200 ล้านบาท จากโครงการก้าวคนละก้าว จะถูกจัดสรรใช้งานใน 3 ส่วนหลักๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ และการให้บริการประชาชน ประกอบด้วยเครื่องมือในส่วนของผู้ป่วยวิกฤต // เครื่องมือแพทย์ทั่วไป และศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ตามแผนงานของโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ที่ได้วางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มต้น