ที่ประชุมสนช.188 เสียงเห็นชอบร่างกฎหมายลูกศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติไม่รีเซตตุลาการศาลฯ ให้ตุลาการ 4 คน อยู่ต่อจนครบวาระ ส่วนตุลาการฯอีก 5 คน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ให้ต่ออายุทำงานต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภานัดแรก หลังการเลือกตั้ง

วานนี้ (23พ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว 

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้แจ้งให้สมาชิกในที่ประชุมทราบว่า พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล อดีตสมาชิก สนช.ยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิก สนช.ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ทำให้ขณะนี้ สนช.เหลือทั้งสิ้น 248 คน ซึ่งพลเอก ชัยชาญ มีชื่อคาดว่า อาจเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่วาระพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สมาชิกให้ความสนใจ คือ มาตรา 69/1 ว่าด้วยการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราว ก่อนการวินิจฉัยและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นยากแก่การแก้ไขเยียวยาภายหลัง 

โดยสมาชิก สนช.บางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นกลาง หากให้ศาลออกมาตรการใดๆ อาจจะกลายเป็นปัญหาได้ อีกทั้งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างร้ายแรงอยู่แล้ว เช่น ตำรวจ และกฎหมายต่างๆ

อีกหนึ่งประเด็นที่ถกเถียงอย่างมากจนหาข้อยุติไม่ได้ คือ การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตรวจสอบมาตรการดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้ประธานในการประชุม สั่งพักการประชุมไปกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้สนช.ไปตกลงกันก่อน หลังหารือ กรรมาธิการจึง ตัดเนื้อหาดังกล่าว โดยไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามาตรวจสอบมาตรการชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญ

จากนั้นจึงพิจารณาบทเฉพาะกาล มาตรา 76 ว่าด้วยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ที่เหลือวาระการดำรงตำแหน่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะครบวาระ

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 คน ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะหมดวาระนั้น ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านร่วมสรรหา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเพื่อความสง่างาม 

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายด้วยคะแนน 188 เสียง ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง หลังจากนี้ สนช. ต้องส่งร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาต่อไปว่า มีข้อขัดแย้งหรือไม่ โดยสนช.ใช้เวลาพิจารณากฎหมายดังกล่าวกว่า 8 ชั่วโมง

มติ สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกศาลรัฐธรรมนูญ-ต่ออายุ 5 ตุลาการ