เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยตรียมออกกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ ให้ผู้ที่มาฐานเงินเดือนตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1,000 บาท ต่อเดือน คาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในช่วงต้นปี 2561 ยืนยันผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น

นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมออกกฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่ ให้คนที่มีฐานเงินเดือนตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 1,000 บาท ว่า สปส.เปิดรับฟังความคิดเห็นในประเด็นนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึง 2560 ทั่วทุกภาคของประเทศ พบว่าร้อยละ 81 ของผู้ประกันตนและนายจ้างสนับสนุนให้มีการปรับ เดิมผู้ประกันตนถูกหักเดือนละ750 บาท บนพื้นฐานเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งใช้มานาน 20 ปี เมื่อครั้งค่าแรงขั้นต่ำยัง 111 บาท แต่ปัจจุบันจำเป็นต้องมีการขยับปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อออกเป็นกฏกระทรวง คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 3 เดือนนับจากนี้ ก็จะสามารถประกาศใช้บังคับอัตราเก็บเงินสมทบใหม่ได้ช่วงต้นปี 2561 และได้รายงานเรื่องนี้ให้พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบแล้ว

จากเดิมที่เคยคิดคำนวณเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท จะเปลี่ยนเป็น 20,000 บาท โดยจะแบ่งการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนดังนี้ ผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 16,000 บาท ใช้ฐานเดิม เก็บเงินเข้ากองทุน 750 บาท ผู้ที่มีเงินเดือน 16,000 แต่ไม่ถึง 20,000 บาท เก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 800 บาท ผู้ที่มีเงินเดือน 20,000 ขึ้นไป เก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น เช่น เมื่อต้องออกจากงาน ปัจจุบันประกันสังคมจะจ่ายให้จากการคำนวณที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท โดยจะได้รับเพียงครึ่งหนึ่งของฐานนี้ คือได้เพียง 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน หากปรับอัตราใหม่ คนที่ฐานเงินเดือน 20,000 บาทก็จะได้รับ 10,000 บาท คือได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สปส.เตรียมเก็บเงินประกันสังคมเพิ่มเป็น 1,000 บาท