"นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่อยากเลือกตั้งแล้ว เพราะอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น และอยากเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ ผลสำรวจของ "ซูเปอร์โพล" พบว่า เกษตรกรสนับสนุน "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" น้อยที่สุด สาเหตุมาจากมาตรการรัฐดูแลไม่ดีพอ เอื้อประโยชน์พวกนายทุน

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลโพล เรื่อง "จับสัญญาณจากกลุ่มเกษตรกร กับการสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี" ทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,143 คน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.5 ยังคงสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เพราะซื่อสัตย์สุจริต เด็ดขาด พูดเก่งรู้จริง เข้าใจเข้าถึงปัญหา ขณะที่ร้อยละ 31.5 ไม่สนับสนุน เพราะแก้ปัญหาปากท้องไม่ได้ ค่าครองชีพสูง

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ โดยแบ่งตามการจำแนกติดตามข่าวการเมือง พบว่า กลุ่มผู้ติดตามข่าวการเมืองสนับสนุน ร้อยละ 69.1 สูงกว่า กลุ่มไม่ติดตามข่าวการเมืองที่มีอยู่ ร้อยละ 52.3

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีสนับสนุนพลเอกประยุทธ์มากสุด ร้อยละ 68.5 ในขณะที่ คนมีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มีสัดส่วนการสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 25.0 เท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งจำแนกอาชีพการสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ พบว่า กลุ่มที่สนับสนุนมากที่สุด คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 73.3 รองลงมาคือ นักศึกษา ร้อยละ 69.7 พนักงานบริษัท ร้อยละ 63.0 ค้าขาย-ธุรกิจ ร้อยละ 64.2 ส่วนเกษตรกรน้อยที่สุดคือร้อยละ 58.3

ไปดูผลสำรวจของ "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง" โดยสอบถามความเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,251 คน เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 และความต้องการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนร้อยละ 55.00 เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 33.41 ทำไม่ได้ และร้อยละ 11.59 ไม่แน่ใจ

ส่วนความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการยอมรับการเลือกตั้งรับได้หรือไม่ หากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.30 ระบุว่า ยอมรับได้ เพราะอยากให้ทำการปฎิรูปประเทศก่อน บ้านเมืองยังต้องจัดระบบระเบียบ และรัฐบาลคงมีเหตุผลสำคัญในการเลื่อนการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 23.74 ระบุ ยอมรับไม่ได้เพราะนานเกินไป อยากให้รัฐบาลกำหนดให้ชัดเจน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนร้อยละ 4.96 ไม่แน่ใจ

สำหรับความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าตอนนี้ประชาชนอยากเลือกตั้งแล้วหรือยัง ร้อยละ 68.19 อยากเลือกตั้งแล้ว เพราะอยากให้ประเทศพัฒนา เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น และอยากเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รองลงมา ร้อยละ 24.38 ยังไม่อยากเลือกตั้ง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ ร้อยละ 7.43 ไม่แน่ใจ

ขณะที่ความเห็นว่า หากการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นภายในปี 2561 ประชาชนมีความกังวลมากน้อยเพียงใดว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.00 ไม่มีความกังวล ร้อยละ 21.34 มีความกังวลค่อนข้างน้อย

ร้อยละ 19.34 มีความกังวลใจค่อนข้างมาก ร้อยละ 11.51 มีความกังวลใจมาก และร้อยละ 2.80 ไม่แน่ใจ

"ซูเปอร์โพล" เผย "พล.อ.ประยุทธ์" คะแนนร่วง เหตุชาวนาหนุนน้อยลง