ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบลดหย่อยภาษีสำหรับประชาชนที่ซื้อเบี้ยประกันภัยสุขภาพ ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณ 2,295 ล้านบาท ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อช่วยประชาชนประสบภัยน้ำท่วมปี 2560

พันเอก อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกร สำหรับผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560

โครงการดังกล่าวสืบเนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดจากพายุเซกัส และพายุตาลัส ทำให้เกิดความเสียหายในภาคการเกษตรจำนวนมาก จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยให้ชุมชนกำหนดโครงการและบริหารจัดการด้วยตนเอง

เป้าหมายคือการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย 450,000 ครัวเรือนในพื้นที่ประสบอุทกภัย 43 จังหวัดทั่วประเทศ โดยกิจกรรมที่สนับสนุน คือ การปลูกพืชอายุสั้น การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และการประมง ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย ปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 5,000 บาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 60 งบกลาง จำนวน 2,295 ล้านบาท

ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพผู้ที่ซื้อประกันภัยสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยในประเทศ โดยประชาชนที่ซื้อเบี้ยประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป สามารถนำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว เมื่อนำมารวมกับค่าลดหย่อนในการทำประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลา ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการฝากเงินที่มีระยะเวลา10 ปีขึ้นไป ต้องมีวงเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท

ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด รวม 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 87,216 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินสินเชื่อ 33,510 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 53,706 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวหรือนบข.เสนอ เพื่อยกระดับราคาข้าวเปลือก ทั้งข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า และข้าวปทุมธานี 1 ให้สูงขึ้น

พร้อมช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวให้กับชาวนารายย่อย ไร่ละ 1,200 บาท ตามพื้นที่จริงไม่เกินรายละ 10ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค.60-30 ก.ย.61

นอกจากนี้ ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ยังได้กล่าวถึงเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ ที่ได้มีการปรับขึ้นมาเป็นลำดับขั้นตามอายุ และสถานะของผู้สูงอายุ ขึ้นมาอยู่ที่ 1,200-1,500 บาทต่อเดือน แต่พบว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ตอบรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะยกระดับเบี้ยผู้สูงอายุให้สูงขึ้น

โดยนายกฯ ต้องการให้ภายในเดือนหน้า กระทรวงการคลังต้องแจ้งข้อมูลว่า มีผู้สูงอายุท่านใดบ้างที่มีรายได้สูง และพร้อมจะเสียสละไม่รับเบี้ยยังชีพ เพื่อนำไปเสริมให้กับผู้สูงอายุท่านอื่นที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เต็มที่