โฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยัน ไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้าง 600 - 700 บาท ต่อวันได้ ตามที่ณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้อง เพราะในแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่แตกต่างต่างกัน และ กระทบต่อผู้ประกอบการ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 โดยระบุค่าจ้างอยู่ที่ 600 – 700 บาทต่อวัน ให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเรื่องค่าครองชีพในปัจจุบัน ว่า ปกติแล้วการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นสิทธิของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งจะทำงานร่วมกันแบบไตรภาคี ประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนจากฝ่ายนายจ้าง ตัวแทนจากฝ่ายลูกจ้าง ร่วมกันพิจารณา โดยใช้หลักการประกอบการพิจารณาหลายประการ อาทิ ความแตกต่างของค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ มูลค่าตลาดทั้งหมดของสินค้าและบริการภายในประเทศ (จีดีพี) และ อัตราการพัฒนาของเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า จากปีที่แล้วคณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เพิ่มขึ้น 5 – 10 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำปรับเป็น 305-310 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าบางพื้นที่ ปรับขึ้น 5 บาท บางพื้นที่ปรับขึ้น 10 บาท นั้น เพราะในแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมองถึงความเป็นจริง ว่ากระทรวงแรงงานจะสามารถพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 -700 บาทต่อวันนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และ เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

อีกทั้ง ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะหากมีการพิจารณาขึ้นจริง การบังคับใช้จะต้องมีการบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกประเภท ไม่ยกเว้นว่าผู้ประกอบการนั้นจะมีผลประกอบการที่ดีหรือผลประกอบการที่แย่

โฆษกแรงงานฯ ยัน ไม่ปรับค่าแรงวันละ 700 บาท ชี้กระทบต่อผู้ประกอบการ