กฎหมายลูกทั้งหมดมี 10 ฉบับ ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน ก่อนหน้านี้ได้ส่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไปแล้ว 5 ฉบับ ยังเหลืออีก 5 ฉบับที่ต้องส่งให้กับ สนช.เมื่อวานนี้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงความคืบหน้ากฎหมายลูกทั้ง 5 ฉบับ โดยเตรียมส่งกฎหมายลูกฉบับที่ 6 คือ กฎหมายตรวจเงินแผ่นดินให้สนช. ในวันที่ 28 ส.ค.นี้

กรธ.แจงความคืบหน้ากฎหมายลูก 5 ฉบับ 

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญของกรธ.ที่ยังเหลืออีก 5 ฉบับว่า กรธ.เตรียมจะส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ โดยส่วนของคณะกรรมการ คตง.จะไม่มีการเซตซีโร่ เนื่องจากได้มีการสรรหา โดยใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เว้นแต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะต้องให้ คตง.ชุดที่กำลังจะเข้ามาทำงาน เป็นผู้สรรหาตัวผู้ว่า สตง.

ส่วนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างส่งตัวร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และหากพิจารณาแล้วเสร็จจะได้ส่งกลับมายัง กรธ. ซึ่งคาดว่ากรธ.จะส่งให้ สนช.ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยยืนยันว่า จะต้องมีการรีเซ็ตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งหลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ตุลาการศาลฯ ที่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ส่วนร่างกฎหมายลูกที่เหลืออีก 3 ฉบับ คือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) ขณะนี้ กรธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาแล้ว หลังจากได้หารือกับป.ป.ช.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน ความถูกต้อง เพื่อเสนอต่อสนช.เป็นฉบับถัดไป

ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 2 ฉบับนั้น กรธ.ยืนยันตามหลักการที่ได้หารือในหลักการที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 3-6 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในส่วนของร่างกฎหมายว่าด้วยสส. ยังคงให้เป็นแยกเบอร์ผู้สมัครสส.เป็นรายเขต ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยที่มาของสว. ยังใช้วิธีการเลือกไขว้ 20 กลุ่มอาชีพในการสรรหา 200 คน คาดว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งภายในเดือนก.ย.นี้

ศาลนัดหารือตีความกฎหมายผู้ตรวจฯ 23 ส.ค.

ส่วนความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกผู้ตรวจการแผ่นดิน หลังจากก่อนหน้านี้ สมาชิกสนช. 34 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มีเนื้อหา ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นที่ สนช.มีมติให้คุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินปัจจุบัน ให้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ

ล่าสุดนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คำร้อง ดังกล่าวมาถึงศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม และจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ โดยศาลจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่