สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย วันแรก 126 บริษัท ขณะที่พนักงานรักษาความปลอดภัย ต้องไม่เคยก่อคดีอุกฉกรรจ์และทางเพศ หรือ หากพ้นโทษต้องเกิน 3 ปี จึงจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้

วานนี้ (18 ก.ค.) พลตำรวจเอกวิระชัย ทรงเมตตา ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 กล่าวภายหลัง การประชุมสัมมนาเตรียมความพร้อมการออกใบอนุญาต ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจรักษาความปลอดภัย และ พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่มาทำการยื่นคำร้องขอไปรับใบอนุญาต และ ดำเนินการ ตามขั้นตอนต่างๆสามารถออกใบอนุญาตได้เบ็ดเสร็จในจุดเดียว

พลตำรวจเอกวิระชัย เปิดเผยว่า การสัมมนาในครั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดขึ้นเพื่อต้องการยกระดับธุรกิจรักษาความปลอดภัยให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะ ความปลอดภัยด้านชีวิต และ ทรัพย์สิน ของประชาชน หลังก่อนหน้านี้ มีคดีในลักษณะเกี่ยวข้องกับทรัพย์ และ ทางเพศมากขึ้น ที่เกิดจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัย

โดยมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร 655 บริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้ตรวจสอบเอกสารแล้วพบว่า มีความถูกต้องครบถ้วน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ออกใบอนุญาตให้ 126 บริษัท ซึ่ง ถือเป็นวันแรกได้ออกใบอนุญาตให้ หลังมีการบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย 2558

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ผู้ประกอบการธุรกิจรักษาความปลอดภัย สามารถยื่นคำร้องขอได้ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อรองรับการฝึกหลักสูตรรักษาความปลอดภัย 21 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งหากบริษัทใดสนใจนำพนักงานรักษาความปลอดภัย เข้าร่วมฝึกอบรมจะมีขั้นตอนในการฝึกอบรมคือภาคทฤษฎี 10 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 24 ชั่วโมง จากนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกไปรับรองให้เพื่อนำมาใช้ในการขึ้นทะเบียนให้

นอกจากนี้ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องการจะขึ้นทะเบียน ต้องผ่านการตรวจประวัติอาชญากร โดยต้องไม่มีประวัติต้องโทษคดีอุกฉกรรจ์ และ คดีเกี่ยวกับเพศ และ หากเคยต้องโทษมาก่อน จะต้องพ้นโทษมาเกินกว่า 3 ปี จึงจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้

ทั้งนี้หากพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วแต่ ไปก่อคดีต่าง ๆ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไม่ต่อใบอนุญาตให้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยได้อีกตลอดชีวิต