ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยเชื่อ หลังจากนี้ 3 สัปดาห์ ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้น ภายหลังรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกร ยืนยันรัฐบาลรับทุกข้อเรียกร้องมาปรับวิธีการทำงาน ขอทุกภาคส่วนร่วมมือ สร้างบรรยากาศดึงความเชื่อมั่นผู้ซื้อ

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง สถานการณ์ยางพาราที่ปรับลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็นผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลก ซึ่งถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย โดยเห็นว่าราคายางที่ลดลงเป็นผลจากสต๊อกยางของจีนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและการขยายตัวในภาคการส่งออก

ทั้งนี้ คาดว่า อีกไม่เกิน 3 สัปดาห์ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการอนุมัติขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี การช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 11,460 ครัวเรือน

และในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาราคายางร่วมกัน พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลรับข้อเรียกร้องต่างๆ มาปรับวิธีการทำงาน ทั้งกรณีการขอให้นำยางในสต๊อกมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น และ การใช้ พ.ร.บ.ยางพาราอย่างเข้มงวด จึงขอให้ทุกภาคส่วนรวมถึงเกษตรกรให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อว่าความขัดแย้งไม่เป็นผลดีต่อการตลาด ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากผู้ซื้อในตลาดโลกด้วย

นายธีธัช ยังกล่าวว่า วันที่ 3 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมร่วมกันของคณะทำงาน 3 ประเทศผู้ผลิตยางของโลก โดยมีไทย / อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย จะนำมาตรการแก้ปัญหาราคายางผันผวนเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ 3 ประเทศในเดือนกันยายน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้สถานการณ์ยางมีทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นลงตามวงจรของเศรษฐกิจ และปัจจัยต่างๆ ของโลก ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาน้ำยางที่ปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า แม้ว่าปัจจุบันตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ยางพาราเป็นอย่างมาก แต่ประเทศไทย ส่งออกยางพาราในรูปแบบของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของโลก

ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้มีการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่ายาง ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนการจัดตั้งเมืองยางพาราและกระตุ้นให้มีการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น เพื่อทดแทนการพึ่งพาการส่งออก และเชื่อมั่นว่า ขณะนี้ได้ผ่านวิกฤติความผันผวนด้านราคายางอย่างรุนแรงไปแล้ว การส่งออกและราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง และทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ลดความกังวลลง พร้อมกำชับกระทรวงพาณิชย์ให้ใช้โอกาสนี้ เร่งเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง และจัดคณะผู้แทนการค้ายางพาราไปเจรจาขายยางพารา และผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ควบคู่กับการใช้ยางภายในประเทศ

โดยเฉพาะตลาดจีน ลาตินอเมริกา บังกลาเทศ และอิหร่าน ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นราคายางภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นได้

ด้าน นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ทางเครือข่ายสวนยางทั่วประเทศ จะเปิดเวทีที่จังหวัดสุราษฐ์ธานี เพื่อกำหนดมาตรการท่าทีของชาวสวนยาง พร้อมเรียกร้องให้นายกฯออกมาตรา 44 ปลดล็อกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างให้หน่วยราชการใช้ยางในประเทศ 

"ผู้ว่าการยางฯ" เชื่อ ราคายางดีขึ้น ขออย่างสร้างความขัดแย้ง