กบง. คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนก.ค. 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากต้นทุนแอลพีจีตั้งต้นลดลง 1.4262 บาท/ก.ก. จาก 15.0491 บาท/ก.ก. เป็น 13.6229 บาท/ก.ก. ตามทิศทางราคาตลาดโลกลดลงจาก 382.50 เหรียญสหรฐ/ตัน มาอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐ/ตัน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ว่า กบง. คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เดือนก.ค. 2560 ไว้ที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) เนื่องจากต้นทุนแอลพีจีตั้งต้นลดลง 1.4262 บาท/ก.ก. จาก 15.0491 บาท/ก.ก. เป็น 13.6229 บาท/ก.ก. ตามทิศทางราคาตลาดโลกลดลงจาก 382.50 เหรียญสหรฐ/ตัน มาอยู่ที่ 355 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นการตรึงราคาเดือนสุดท้ายก่อนเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีเต็มรูปแบบทั้งระบบในรอบกว่า 30 ปี มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

โดยให้นำต้นทุนที่ลดลง 1.4262 บาท/ก.ก. ส่งคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดภาระกองทุนที่เดิมชดเชยอยู่ที่ 1.5469 บาท/ก.ก. เป็นชดเชย 1.207 สตางค์/ก.ก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ส่งผลให้กองทุนมีรายรับสุทธิอยู่ที่ 131.82 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 ก.ค. 2560 อยู่ที่ 39,669 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของบัญชีก๊าซแอลพีจี 6,448 ล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป 33,221 ล้านบาท

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นยังไม่ตอบไม่ได้ว่าการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก ซึ่ง กบง. ประเมินว่าขณะนี้ราคาแอลพีจีตลาดโลกทรงตัวอยู่ในทิศทางขาลง โดยอาจมีโอกาสปรับขึ้นอีกครั้งช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่จะปรับขึ้นไม่มากเท่ากับอดีต เพราะคาดว่าจะมีผู้เล่นรายอื่นนำเข้าก๊าซเข้ามาเพิ่มขึ้นเช่นกัน

หรือต่อให้ราคาปรับขึ้น รัฐก็ยืนยันว่ายังคงใช้กลไกกกองทุนเข้ามาดูแลบรรเทาค่าครองชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อยแน่นอน โดยอาจโยกไปอยู่ในส่วนของมาตรการผู้มีรายได้น้อยหรือบัตรคนจนแทน