"นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ยืนยัน รถไฟไทย-จีน ไม่เสียประโยชน์ในแผ่นดินตัวเอง ขณะที่ วงเสวนา "นักวิชาการจุฬาฯ" เชื่อรถไฟไทย-จีน เจ๊งกับเจ๊ง เหตุก่อสร้างเส้นทางทับซ้อน และ ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

นักวิชาการรุมสับ "รถไฟไทย-จีน" เจ๊งชัวร์

วานนี้ (22 มิ.ย.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง "รถไฟไทย-จีน ใครได้ ใครเสีย" มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ร่วมเสวนา นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินจำนวนมาก การตัดสินใจจะต้องไม่ฉาบฉวย เพื่อสร้างภาพหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเท่านั้น ทั้งนี้ มองว่า เส้นทางสายกรุงเทพฯ-โคราช จะมีทั้งไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง และเมื่อไม่นานรัฐบาลเพิ่งอนุมัติก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ทำให้เส้นทางนี้มีการทับซ้อน 3 โครงการ ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ขณะที่ นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า หากรถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นจริงๆ การทำสัญญากับจีน จะต้องมีความชัดเจน ละลงรายละเอียดอย่างแม่นยำ พร้อมกับเปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาคมโลก เพื่อป้องกันการเบี่ยงเบนจากจีน ทั้งนี้ เห็นว่าหากต้องมีรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศ จาก กรุงเทพฯไปเชียงใหม่ หรือ กรุงเทพฯไปหนองคาย จะได้ประโยชน์กว่า

ด้าน นางนวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นบทเรียนชัดเจนว่ารัฐทำเองแล้วขาดทุน แม้จะเชื่อมกับสายสีน้ำเงินในเร็ววัน แต่ก็ยังมีผู้โดยสารน้อย และคาดว่ารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - โคราช คิดทั้งระบบน่าจะเจ๊งกับเจ๊ง เพราะโคราชเป็นแค่ปากทาง ไม่คุ้มค่าก่อสร้าง 1 แสน 7 หมื่น 9 พันล้านบาท

"สมคิด" ยันรถไฟไทย-จีน ไม่เสียประโยชน์ในแผ่นดินตัวเอง

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-โคราช ว่า โครงการที่เกิดขึ้นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 4 หมื่นล้านบาท ที่ให้วิศวกรจีนเข้ามาดำเนินการได้ เป็นงานระบบราง รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาและการออกแบบ ขณะมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทจะให้คนไทยทำ ทั้งนี้ ที่ดินทั้งสองข้างก็ยังเป็นแผ่นดินไทย เราจะทำอะไรบนแผ่นดินเราก็ได้ จะให้ใครเข้ามาร่วมลงทุนก็ได้เพื่อที่สามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ได้ในอนาคต

วสท.แนะถ่ายโอนเทคโนโลยีไฮสปีดเทรนจากจีน ไม่ใช่แค่ซ่อมบำรุง

ขณะที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทีซีเอ) สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดแถลงข่าวในหัวข้อ กระบวนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอภาครัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นคราชสีมา ที่อาคาร วสท.

โดยนายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ(วสท.) เปิดเผยว่า หากจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนมาให้กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นระดับช่าง โดยจะต้องไม่ใช่เพื่อการซ่อมแซม หรือซ่อมบำรุง แต่ต้องกำหนดสัดส่วนให้วิศวกรไทยเข้าไปร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างงานโยธา  งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้ไทยมีความรู้ในการดูแลระบบนี้ต่อไปได้ในอนาคต และสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้เอง รวมถึงศูนย์ทดสอบระบบต่างๆ ต้องทดสอบที่ไทยไม่ใช่ที่จีนเพื่อให้งานเดินหน้าได้ลุล่วงตามหลักมาตรฐานสากล

นักวิชาการรุมสับ "รถไฟไทย-จีน" เจ๊งชัวร์