"นายมีชัย ฤชุพันธุ์" ชี้ระบบไพรมารี่โหวตอาจทำให้พรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทันอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า เตรียมหารือ กกต. เพื่อหาทางออก 19 มิ.ย.นี้ ด้าน สนช. มั่นใจ "ไพรมารี่โหวต" ไม่กระทบการเลือกตั้ง เพราะยังมีเวลาให้พรรคดำเนินการอีกกว่า 1 ปี

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรับแก้ให้พรรคการเมืองใช้ระบบไพรมารี่โหวต หรือ ให้สาขาพรรคร่วมคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก่อนว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องไพรมารี่โหวตที่ สนช.กำหนด ถือว่า เข้มกว่าสิ่งที่กรธ.ได้กำหนดไว้ และเป็นสิ่งที่เร็วเกินไปสำหรับพรรคการเมืองด้วย

จึงมีข้อกังวลว่า ถ้าพรรคการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.มาแล้ว มีคนโต้แย้งว่า รายชื่อที่ส่งมายังใช้กระบวนการไม่ครบถ้วน ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำอย่างไร จะไม่รับสมัครหรือไม่ หรือถ้าหากมีการเลือกตั้งแล้วมีคนมาแย้ง ผลจะเป็นอย่างไร

ข้อบังคับเหล่านี้ จึงถือว่ามีผลกระทบต่อพรรคการเมืองมากในทางปฏิบัติ และอาจต้องใช้เวลามาก เพื่อทำให้ได้ตามข้อบังคับดังกล่าว ทำให้ระบบไพรมารี่โหวตจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจทำให้ไม่ราบรื่น เพราะพรรคการเมืองอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่ทัน โดยจะต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กกต.อีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย. เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้

ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ สนช.ปรับแก้ให้เข้มข้นขึ้น โดยให้สาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดมีส่วนร่วม ในการกำหนดผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับเขตนั้น ทาง กรธ.เคยหารือกันแล้วว่า จะเป็นภาระแก่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ และพรรคการเมืองขนาดเล็กมากเกินไป ส่วนจะมีการแสดงความเห็นแย้งเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน หรือไม่นั้น ต้องรอผลการประชุม กรธ.ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้

ด้านพลเอก สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช.กล่าวว่า ระบบไพรมารี่โหวตจะไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งล่าช้า เพราะหลังจากนี้ไปยังมีเวลาอีก 1 ปี และเชื่อว่า พรรคการเมืองรู้วิธีการดำเนินการดี อีกทั้งบทเฉพาะกาลยังยืดหยุ่นรายละเอียดการส่งตัวผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งแรกด้วย

จึงต้องถามกลับว่า วิธีคิดให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนของตนเอง ขจัดปัญหาพรรคที่เคยเป็นของนายทุน เป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ ถ้าตอบว่าดี ก็อย่าเอาปัญหาเล็กมาเป็นตัวตั้ง คอยขัดขวางการแก้ปัญหาเก่าๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่

ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเตือนเรื่องการใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. เพราะจะยิ่งทำให้การเมืองระบบครอบครัว ระบบสืบทอดทายาททางการเมืองกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง และยิ่งทำลายพรรค สร้างความแตกแยกให้พรรคชนิดร้าวลงลึกถึงระดับสาขาและชุมชน เพราะสาขาพรรค หรือสาขาจังหวัดล้วนตั้งอยู่ในบ้านของ ส.ส.หรือผู้มีอิทธิพลในจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ

ดังนั้นคนที่เลือกก็ต้องเลือกคนของตนเองทั้งนั้น หรือต้องเลือกคนในวงศ์ตระกูลของเขาทั้งนั้น พรรคใหม่จะอยู่ยาก แต่พรรคประชาธิปัตย์มีประสบการณ์ยาวนาน เชื่อว่า จะหาทางแก้ไขได้

"มีชัย" เตรียมหารือ กกต.19 มิ.ย. หวั่น "ไพรมารี่โหวต" กระทบเลือกตั้ง