ธปท.เปิด "คลีนิคแก้หนี้" พบมีหนี้เสียอยู่กว่า 3 ล้านราย โดยยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ เงินกู้สหกรณ์ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

นาย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ "โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน" หรือ คลินิกแก้หนี้ ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย,สมาคมธนาคารต่างประเทศ,ธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ เป็นโครงการช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้แบบองค์รวม โดยเฉพาะกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2543 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางคอยช่วยไกล่เกลี่ยให้ลูกหนี้ ที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถได้ข้อยุติกับธนาคารเจ้าหนี้ในคราวเดียวกันอย่างครบวงจร ภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่อายุไม่เกิน 65 ปี ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการมีภาระหนี้ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 แห่ง ก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560หนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำโดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงโดยอยู่ที่  4 - 7 %

สำหรับหนี้บัตรเครดิต ต้องเป็นหนี้บัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมในโครงการนี้เท่านั้น ยกเว้นบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทในเครือของธนาคารนอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มเติมภายใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันจากการสำรวจข้อมูลมีผู้เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งถือเป็นหนี้เสีย (NPLs) อยู่16% หรือกว่า 3 ล้านรายของผู้มีหนี้ทั้งหมด โดยยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ เงินกู้สหกรณ์ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)