สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งกระทู้ล่ารายชื่อคนคัดคัดค้านร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เพื่อขอให้สปท.ยุติการพิจารณาออกกฎหมายคุมสื่อ ด้านสปท. ยอมถอย เตรียมเสนอให้ตัวแทนภาครัฐ 2 คน นั่งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ แค่ 2วาระ รวม 6 ปี

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ตั้งหัวข้อเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านทางเว็บไซต์ change.org โดยใช้หัวข้อว่า "ยุติการพิจารณาออกกฎหมายตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน" เพื่อเรียกร้องให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยุติการพิจารณาออกกฎหมายดังกล่าว

โดยมีเนื้อหาระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดนิยามสื่อที่ต้องการปิดปากสื่อมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนไม่สามารถหาข้อมูล ค้นข้อเท็จจริง การตรวจสอบโครงการต่างๆที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐ นำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบได้

นอกจากสื่อมวลชน และ ประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงความเห็น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรที่รัฐสร้างขึ้นมาที่ชื่อว่า "สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ" ซึ่งหมายถึงการใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่า จะเป็นสื่อมวลชนโดยอาชีพ หรือ เป็นประชาชนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แสดงความคิดเห็น หรือ รายงานปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ต้องไปทำบัตรขึ้นทะเบียนเป็นนักข่าวกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ  หากไม่ทำบัตร และไม่ขึ้นทะเบียน แต่ออกไปทำข่าว หรือ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  ปรับ ไม่เกิน6หมื่นบาท ซึ่งอัตราโทษจำคุกเท่ากับโทษในฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

โดยขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 300 คน

 

สปท.เตรียมให้ตัวแทนภาครัฐนั่งสภาวิชาชีพสื่อแค่ 6 ปี

ด้านพลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ของสปท.กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1 พ.ค.นั้นไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายที่จะออกเป็นกฎหมาย  เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น  แต่หากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสปท.ก็จะส่งต่อไปให้ครม.พิจารณาต่อไป  ถ้าครม.เห็นชอบจึงส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณายกร่างเป็นกฎหมาย

ดังนั้นเนื้อหาจึงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลา  ส่วนตัวเข้าใจความเป็นห่วงของสื่อมวลชนเรื่องการมีตัวแทนภาครัฐ 2 คน ไปเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่อาจจะเข้ามาแทรกแซง ครอบงำการทำงานสื่อนั้น  แต่ตัวแทนภาครัฐมีสัดส่วนแค่ 2คน จากทั้งหมด 15 คน  ซึ่งการจะลงมติใดๆ จะใช้วิธีโหวตตัดสิน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ภาครัฐจะเข้าไปครอบงำ เพราะเป็นเสียงข้างน้อยแค่ 2 เสียงเท่านั้น

พลอากาศเอก คณิต กล่าวว่า เพื่อลดความกังวลของสื่อมวลชน  ตนจะเสนอในที่ประชุมสปท.วันที่ 1 พ.ค.ว่า จะให้ออกบทเฉพาะกาลเพิ่มเติมให้ตัวแทนภาครัฐ 2คน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่นั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ นั่งอยู่ในวาระ 3 ปี ได้แค่ 2 วาระเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่มีตัวแทนภาครัฐร่วมเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติต่อไป จะเหลือคณะกรรมการฯ อยู่แค่ 13 คนเท่านั้น เพื่อให้สื่อลดความกังวลเรื่องการแทรกแซงครอบงำสื่อ

 

สปท.แจงบทลงโทษสื่อไร้สังกัด หวังป้องคนไม่ดีสร้างความเสียหาย

ด้านพลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.กล่าวว่า สปท.สื่อสารมวลชนไม่ได้เร่งเครื่องนำร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าสู่ที่ประชุมสปท.ในวันที่ 1พ.ค. เพื่อสกัดสื่อมวลชนเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

เพราะสมาชิกสปท.ได้นำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาหารือกันเป็นเวลามานานแล้ว จึงถึงเวลาต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมสปท. ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนก็พร้อมยอมรับ

ส่วนการกำหนดบทลงโทษสื่อที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพนั้น เป็นการจัดระเบียบเพื่อให้สื่อมีต้นสังกัด จึงต้องกำหนดบทลงโทษ เพื่อป้องกันให้คนไม่ดีที่ไม่มีสังกัดอาศัยความเป็นสื่อมวลชนไปสร้างความเสียหาย หรือ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น โดยไม่มีเจตนาควบคุมหรือแทรกแซงการทำงานสื่อ

 

เตรียมตั้งคกก.พิเศษปรับปรุงพ.ร.บ.คุมสื่อ

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 หนึ่ง กล่าวว่า เมื่อวิป สปท.บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมว่าจะเห็นอย่างไร โดยมี 3 แนวทาง คือ 1.เห็นชอบ 2.ไม่เห็นชอบ และ 3.ถอนร่างกฎหมายกลับไปปรับปรุงใหม่

โดยในการประชุมวิปสปท.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอว่า ในกรณีที่ที่ประชุม สปท.มีมติเห็นชอบ ควรให้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขรายงานและร่างกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับความเห็นที่สมาชิก สปท.ได้อภิปราย โดยให้เหตุผลว่า ถ้าให้กรรมาธิการสื่อฯ นำกลับไปปรับปรุงเอง ร่างกฎหมายอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิก สปท.ในระหว่างการอภิปราย แต่แนวทางดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน

 

"วัลลภ"ชี้เร็วเกินไปวิจารณ์พ.ร.บ.คุมสื่อ

ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า การรีบออกมาวิจารณ์กฎหมายควบคุมสื่อมวลชน ถือว่าเร็วเกินไป เพราะกระบวนการร่างกฎหมายของ สปท.เป็นแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น ก่อนส่งไปให้ครม.และตั้งกรรมการ 3ฝ่ายที่มีตัวแทน สนช. สปท.และครม.เพื่อพิจารณาว่ากฎหมายดังกล่าวมีสาระเพียงพอที่จะทำเป็นกฎหมายได้หรือไม่

อีกทั้งการเสนอกฎหมายต้องดำเนินการตามมาตรา 77 วรรค 2 ที่ต้องรับฟังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง6-7 เดือน  จากนั้นก็ต้องนำมาวิเคราะห์ผลกระทบอีก ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานมาก จึงเร็วเกินไปที่สังคมจะแสดงความเห็น

สมาคมนักข่าวล่ารายชื่อค้านพ.ร.บ.ควบคุมสื่อ