ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเฟสบุ๊ค เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนเรามากขึ้น หลายคนนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และสร้างคนสนใจ จากการ ไลฟ์ผ่านเฟสบุ้ค ซึ่งนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมองว่าเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมป่วย ที่คนในสังคมต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกัน

คลิปเผยแพร่สดผ่านเฟชบุ๊ก ไลฟ์ ขณะที่ครูฝึกรักษาความปลอดภัยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กำลังเตรียมการใช้เชือกผูกคอตัวเองเสียชีวิตกับพัดลมเพดาน ตำรวจคาดว่าผู้ตายเครียด หลังภรรยาทราบว่าผู้ตายแอบคบกับหญิงสาวอีกคน เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดจากมีปัญหาชีวิตและตัดสินใจประชดสังคมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ ที่สองหนุ่มสาววัยรุ่นในจังหวัดจันทรบุรี เขียนจดหมายลาพ่อแม่ ก่อนเปิดเฟซบุ๊กไลฟ์ แพร่ภาพสด กอดคอกินยาฆ่าแมลง เสียชีวิตทั้งคู่

และเหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความเศร้าสลดผ่านสื่อออนไลน์ หลังมีชายคนหนึงระแวงภรรยามีชายอื่น จึงนำลูกสาววัย 11 เดือน ก่อเหตุ ช็อกสังคมด้วยการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ผูกคอตาย บนดาดฟ้าตึกโรงแรมร้างแห่งหนึ่ง

ทีมข่าวพยายามนำเสนอภาพเหตุการณ์นี้ให้น้อยที่สุดและเลี่ยงที่จะให้เห็นเหตุการณ์ที่เศร้าสลด แม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนภัยและชี้ให้เห็นถึงวิธีการใช้สื่อออนไลน์ที่ผิด เนื่องจากนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อย่าง ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการนำเสนอภาพขณะผูกคอตาย จะส่งผลต่อจิตใจคนดูและอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

ส่วนการ ฆ่าตัวตาย ไลฟ์สด ผ่านเฟสบุ๊ค นั้น ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า เป็นภาพสะท้อนความป่วยของสังคม ที่กำลังประสบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ที่มักจะไม่เลือกแสดงออกด้วยการพูดคุยและปรับความเข้าใจกันโดยตรง แต่เมื่อมีปัญหามักจะแสดงออก ผ่านสื่อออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊กไลฟ์

กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า คนไทย ไลฟ์สดฆ่าตัวตายเฉลี่ยเดือนละ 1 - 2 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลเกิดการเลียนแบบง่าย จึงต้องป้องกันด้วยวิธี หากพบเห็นรีบยับยั้ง อย่าส่งต่อ อย่าดูจนจบ จะส่งผลเสียสุขภาพจิต

ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ฆ่าตัวตายเท่านั้นที่มักจะไลฟ์สดผ่านเฟสบุ๊ค หลายคนยังใช้ช่องทางนี้ในการเรียกร้องความสนใจให้กับตัวเอง หรือหวังผลทางการตลาด วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน แนะนำว่าให้ปฎิเสธที่จะเสพสื่อลักษณะนี้ และให้กด รายงาน ภาพไม่เหมาะสม ไปยังเฟซบุ๊ก

ไลฟ์สด สะท้อนปัญหาสังคมป่วย!