จับตาวันนี้ (30มี.ค.) สนช.เตรียมนำร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยสนช.ยืนยันจะไม่เลื่อนการพิจารณา และจะไม่ถอนร่างกฎหมายออกมา พร้อมยืนยันการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยย้ำได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว

วานนี้ (29มี.ค.) พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวชี้แจงถึงการบัญญัติมาตรา 10/1 ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันนี้ (30 มี.ค.) ว่า เรื่องดังกล่าว ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาทางวิชาการ และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน จนได้ข้อสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม จะต้องมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งหลังจากคณะกรรมาธิการศึกษาแล้ว จึงส่งต่อไปยังรัฐบาล

พลเอกอกนิษฐ์ กล่าวยอมรับว่า พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ เคยพาคณะที่มีทั้งทหารและพลเรือนไปพบหม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงผลการศึกษา ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไปยังครม.ถึง 2 ครั้ง ซึ่งครม.ก็ยืนยันว่า ตั้งได้ ต่อเมื่อมีความพร้อม โดยไม่ได้ให้ตั้งขึ้นมาทันที เปรียบเหมือนการปลูกบ้านที่ต้องออกแบบก่อน

กมธ.แจงกรมพลังงานทหารไม่เกี่ยวบรรษัทน้ำมัน

พลเอกอกนิษฐ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่หม่อมราชวงศ์ ปรีดียาธร มองว่า กรมพลังงานทหารจะเข้ามาร่วมบริหารบรรรษัทน้ำมันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายนี้ รักษาการณ์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่วนกรมพลังงานทหาร ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม มีไว้เพื่อเตรียมการเรื่องพลังงานสำหรับป้องกันประเทศ ไม่ใช่เชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นคนละบทบาทหน้าที่กัน โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการทั้ง 11 คน ไม่มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ แต่ทุกคนทำด้วยความหวังดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และที่มาของมาตรา 10/1 ก็มาจากการรับฟังความเห็นของประชาชน

ด้านพลเอกสกนธ์ กล่าวยอมรับว่า เป็น 1 ใน 6 สนช. ที่ผลักดันให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกันหลายฝ่าย ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่อยากให้มี และฝ่ายที่ไม่อยากให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ควรมีการตั้งบรรษัทน้ำมัน จึงเสนอไปยังรัฐบาลตามขั้นตอน

สนช.ยันไม่ถอนร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เดินหน้าถกตามวาระวันนี้

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิปสนช.เปิดเผยว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของสนช.จะเดินหน้าไปตามกระบวนการปกติ โดยไม่จำเป็นต้องถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาก่อนแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างผ่านการพิจารณาของวิปสนช.แล้วและเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยยืนยันว่า การบัญญัติมาตรา 10/1 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ได้เป็นการสอดไส้ตามที่กล่าวหา เพราะแม้คณะกรรมาธิการฯ จะแก้ไขเกินหลักการตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขเกินกว่าหลักการ

'พรเพชร'ยันไม่เลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวว่า ในวันนี้ (30มี.ค.) สนช.จะไม่เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ออกไปอย่างแน่นอน เพราะหลักการอื่นๆของกฎหมายยังมีอยู่และต้องดำเนินการต่อไป ส่วนปัญหาเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะต้องหาข้อยุติโดยการอภิปรายของสมาชิก สนช.ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจากการพูดคุยกับ พลเอกสกนธ์ ทราบว่า ในการจัดตั้งคณะกรรมการบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว

สนช.เสียงแตกปมตั้งบรรษัท เล็งหาทางออกปรับถ้อยคำ

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้สมาชิกสนช.มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยในวันนี้ (30มี.ค.) คณะกรรมาธิการฯ จะมีการชี้แจง ถึงการตั้งบรรษัทน้ำมัน เพิ่มเติมอีกครั้ง โดยอาจจะมีการเสนอทางออก ด้วยการปรับถ้อยคำจากเดิมที่กำหนด'ให้มีการจัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม' มาเป็นการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาถึงความเป็นไปได้และรูปแบบของการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ' ซึ่งการแก้ไขในลักษณะนี้จะมีความชัดเจนมากกว่า

คปพ.จี้สนช.กำหนดเวลาตั้งบรรษัทน้ำมันให้ชัดเจน

ขณะที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นางสาวรสนา โตสิ ตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงชี้แจงกรณีถูกนายกรัฐมนตรีกล่าวพาดพิงว่า นายกฯ ยังไม่เข้าใจ และเข้าใจผิดหลายเรื่อง เช่น การที่ นายกฯ คิดว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นจาก คปพ.ไปกดดันนั้น ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากมีรายงานผลการศึกษาของกรรมาธิการวิสามัญออกมา ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้ทำตามผลการศึกษาดังกล่าว โดยยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีบรรษัทน้ำมัน เพื่อทำหน้าที่รับโอนทรัพย์สินจากทุกแหล่งที่หมดสัญญาสัมปทาน และรับโอนระบบท่อก๊าซเพื่อหยุดการผูกขาด แต่กลุ่มคปพ.ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะไม่ได้กำหนดเวลาจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อรับโอนทรัพย์สินและปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณ มูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้อาจไม่ทันต่อการเปิดการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ และไม่มีบทบัญญัติป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยวันนี้ (30 มี.ค. )เวลา 08.00 น. คปพ.จะไปยื่นหนังสือต่อประธานสนช. เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมต่อไป

สนช.ยันไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เดินหน้าประชุมตามวาระ 30 มี.ค.