นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณี 'หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล' คัดค้านตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยระบุสาเหตุเกิดจากกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย พยายามเรียกร้องกดดัน พร้อมปฏิเสธข่าวทหารต้องการเข้ามาควบคุมกิจการพลังงาน ด้าน 'หม่อมราชวงศ์ ปรีดียาธร' ย

หลังจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พร้อมแถลงว่า มีกลุ่มอดีตนายทหาร ระดับนายพล 6 คน ต้องการให้ จัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น

วานนี้ (28มี.ค.) หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร ออกมากล่าวอีกว่า กลุ่มทหาร 6 คนได้รวมตัวกันทำข้อมูล เพื่อต้องการจัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อกุมอำนาจทางพลังงานทั้งหมด ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ ซึ่งในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่เขียน คือ ให้กรมการพลังงานทหาร เข้าบริหารบรรษัทในระยะแรก ทั้งนี้หลังจากตนออกมาแถลงข่าวออกไป ยังไม่มีใครโทรหาตนเอง มาเพียงสื่อมวลชนเท่านั้น

กมธ.แจงตั้งบรรษัทน้ำมัน เพื่อประโยชน์ด้านพลังงาน

ขณะที่วานนี้ (28มี.ค.) ในการประชุมวิปสนช.ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานการประชุม ได้เชิญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมมาชี้แจงในประเด็นการเสนอเพิ่มเนื้อหามาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ วิปสนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้แจงต่อที่ประชุมวิปสนช.ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้สอดไส้ หรือ ลักไก่ เพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 10/1 แต่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง มีการขอความเห็นชอบจากครม.ในการขอแก้ไขหลักการของกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว พร้อมยืนยันว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการพลังงานในอนาคต และการจัดตั้งบรรษัทไม่กำหนดระยะเวลาตายตัวว่า จะต้องจัดตั้งให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด โดยจะนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ3 ในวันที่ 30 มี.ค.นี้

วิป สนช.โต้'หม่อมอุ๋ย' ปัด 6 สนช.ทหารล็อบบี้ตั้งบรรษัทน้ำมัน

หลังการประชุม นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. แถลงปฏิเสธข่าวว่า มีทหาร 6 คนล็อบบี้และผลักดันให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า ไม่เป็นความจริง เพราะผู้เห็นด้วยไม่ได้มีเฉพาะทหาร 6 คน แต่ยังมีตนเอง พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร และกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เห็นด้วยให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อเข้ามาบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งมีรัฐบาลเข้ามาถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นผู้อนุมัติสัญญา ซึ่งการตั้งบรรษัทน้่ำมันนั้นในร่างกฎหมาย มาตรา 10/1 ใช้คำว่า 'ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันเมื่อมีความพร้อม' เพราะต้องมีการศึกษาก่อน และบรรษัทฯยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน พร้อมยืนยันว่า สมาชิกสนช.6คนไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ตามที่กล่าวหา

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ วิปสนช. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในกฎหมายใช้คำว่าให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม ซึ่งมีความหมายกว้างมาก ดังนั้นการจัดตั้งคงเกิดขึ้นได้ยากกว่าการตั้งโรงไฟฟ้า เชื่อว่า100 ปีก็จัดตั้งไม่ได้

นายกฯชี้กลุ่มคปพ.กดดันตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้เรียกร้อง คือ กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) พยายามเรียกร้องและกดันคณะกรรมาธิการด้านพลังงานมาตลอดว่า จะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้ได้ ซึ่งตนเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ยังไม่พร้อม และยังไม่มีความจำเป็น เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่จำนวนมาก เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รวมทั้งเกรงว่า จะซ้ำซ้อนกันหรือไม่ แต่ตนก็รับฟังข้อเสนอ และให้สนช.ไปพิจารณา

นายกฯ ยังยืนยันว่า ไม่เคยมีแนวคิดที่จะให้ทหารเข้ามาดูแลผลประโยชน์ด้านพลังงาน เพราะกรมพลังงานทหารมีหน้าที่จำกัด และตนก็ไม่ให้ทำอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องการ คือ ต้องการให้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมออกมาให้ได้ เพื่อพิจารณาเรื่องการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน และเจาะหาแหล่งพลังงาน

คปพ.หนุนตั้ง'บรรษัทน้ำมัน' แต่ค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ด้านเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ร่วมแถลงจุดยืนคัดค้านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ พร้อมชี้แจงตอบโต้ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร โดยแถลงสนับสนุนให้จัดตั้งบรรษัทนำมันแห่งชาติ เพราะเป็นผลประโยชน์สำคัญของประเทศ และยืนยันว่า คปพ.จะไม่รับตำแหน่งใดๆทั้งสิ้นในบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันได้แถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมว่า เอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี และในวันที่ 30 มี.ค. นี้ เวลา 08.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต่อประธานสนช. หากสนช. ยังผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะยื่นหนังสือให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 เพื่อยุติร่างดังกล่าว

วิป สนช.โต้ 'หม่อมอุ๋ย' ปัด 6 สนช.ทหารล็อบบี้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ