ตำรวจนครบาลเตรียมบังคับใช้กฎหมายให้ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย เริ่มวันที่ 5 เมษายนนี้ แต่เบื้องต้นอาจอนุโลมยกเว้นไม่จับ-ปรับรถรุ่นเก่า ที่ไม่ได้ติดเข็มขัดนิรภัยไว้ที่เบาะด้านหลัง

พลตำรวจตรี จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล เตรียมพร้อมบังคับใช้กฎหมายให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยมานานแล้ว แต่กรณีที่รถบางคันไม่ได้ติดเข็มขัดนิรภัยไว้สำหรับเบาะหลัง เช่น รถยนต์รุ่นเก่าๆ นั้น ก็จะมีข้อยกเว้นให้อยู่แล้ว ซึ่งความจริงแล้ว การออกกฎหมายบังคับใช้ จะเน้นเข้มงวดการคาดเข็มขัดบนรถตู้โดยสารมากกว่า ส่วนการอนุญาตให้นำถังน้ำขึ้นบนท้ายกระบะได้ แต่ห้ามคนขึ้นบนหลังรถกระบะนั้น เป็นไปตามกฎหมายเดิมที่บังคับใช้ว่า ห้ามไม่ให้คนขึ้นไปนั่งบนหลังรถกระบะ ระหว่างที่รถกำลังวิ่งอยู่ในถนนสายหลักหรือทางด่วน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.เป็นต้นไป เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนที่โดยสารรถยนต์ส่วนบุคคลและรถสาธารณะ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ซึ่งการติดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารแถวหน้าและแถวหลัง เป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้กับรถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งในการบังคับใช้กฎหมายจริงจะมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นผู้รับหน้าที่ดำเนินการ โดยกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ออกมาในช่วงนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และเตรียมพร้อมก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีผู้สัญจรบนท้องถนนจำนวนมาก

ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัยนั้น เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถขนส่งสาธารณะ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะ และรถทัวร์ ซึ่งผู้โดยสารทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะเด็กที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนรถตู้จะต้องถอดเบาะนั่งออก 1 เบาะให้เหลือ 13 ที่นั่ง จากเดิม 14 ที่นั่ง เพื่อความปลอดภัยให้สามารถเปิดประตูหลังรถได้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นตัวอย่างที่ช่วยรณรงค์ว่า แม้แต่นั่งรถประจำตำแหน่ง ก็ยังต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังตั้งจุดสกัดความเร็วเพื่อลดอุบัติเหตุกว่า 100 จุด เน้นในจุดทางโค้ง ทางขึ้นเขาและทางลาดชัน เชื่อว่าการตั้งจุดตรวจจะช่วยลดการสูญเสียชีวิตลงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 5

ขณะที่ นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมกำหนดแผนคุมเข้มช่วงสงกรานต์ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 5-18 เม.ย. โดยมาตรการหลัก คือ รถโดยสารต้องมีความพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบครบถ้วน พนักงานขับรถสาธารณะต้องมีแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บต้องลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปี 59 หากพบว่า เจ้าหน้าที่คนใดมีข้อบกพร่อง และปล่อยปละละเลย ก็ต้องพิจารณาลงโทษทางวินัยต่อไป โดยกระทรวงคมนาคม กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ อาทิ ตั้งแต่วันที่ 5-24 เม.ย. 60 จะตรวจจับความเร็วรถอย่างเข้มข้น ทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถส่วนบุคคล

นอกจากนี้วันที่ 11-17 เม.ย.นี้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งจุดตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ 14 แห่งใน 11 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดหลักที่รถโดยสารสาธารณะวิ่งผ่าน หากมีปัญหาต้องพักการใช้รถทันที พร้อมตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารชั่วคราวที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยสามารถแจ้งได้ที่หมายเลย 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

บช.น.เตรียมยกเว้นจับ-ปรับ รถรุ่นเก่าไม่มีเข็มขัดนิรภัย