'นายศรีสุวรรณ จรรยา' เตรียม ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบ 7 สนช.ส่อเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิตร' ขอให้รอฟังเหตุผลของทั้ง 7 คน เตรียมปรับแผนการประชุมลงมติร่างกฎหมายใหม่

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลการลงมติของ 7 สนช.ว่า ข้อมูลการลงมติไม่ใช่ความลับ แต่ตัวเลขที่เปิดเผยจากทางราชการซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเป็นข้อมูลภาพรวมการทำงานทั้งปี แต่ไม่ใช่เป็นการโต้แย้งไอลอว์ เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าประธานสนช.อนุมัติให้สมาชิกสนช.ลาได้กว่า 300 ครั้ง จากการประชุม 400 ครั้ง

ส่วนที่สังคม มองว่า การลาแม้จะถูกต้องแต่อาจไม่เหมาะสมนั้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ต้องฟังเหตุผล และภารกิจของแต่ละคนว่าทำไมไม่มาลงมติ เพราะการประชุมบางวันอาจจะไม่มีการลงมติ แต่บางวันประชุม 2 ชั่วโมง ก็อาจจะมีการลงมติ50-60ครั้ง ดังนั้นกำลังหาเหตุผล เพื่อชี้แจงให้สังคมทราบ

จากนี้ไปจะมีการทำความเข้าใจกับสมาชิกสนช.ทุกคน ไม่ให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก และทางสภาก็จะบริหารอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก ซึ่งอาจจะนำกฎหมายไปรวมกันในวันพฤหัสบดี ส่วนกระทู้ หรือรายงานของหน่วยงานต่างๆเป็นทุกวันศุกร์ สมาชิกก็จะทำงานทั้งสองหน้าที่ได้อย่างสบายใจ

ส่วนการที่สนช.สวมหมวกหลายใบจะทำให้เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ การแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการมาเป็นสนช.ก็เพื่อให้การทำงานแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการนั้นๆทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการสื่อสารโดยตรง เชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

อนุกรรมการนัดถกปม 7 สนช.ขาดประชุมนัดแรก

ด้าน ร้อยตำรวจตรีพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแสวงหาพยานหลักฐานตรวจสอบการขาดลงมติการประชุมของสมาชิก สนช. 7 คน กล่าวถึงแนวทางการทำงานของคณะอนุกรรมการฯว่า ยังไม่ทราบว่าคณะอนุกรรมการมีกรอบอำนาจการทำงานมากน้อยเพียงใด สามารถเรียกสมาชิกสนช. 7 คน มาให้ข้อมูลได้หรือไม่ จึงขอดูคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อน

ทั้งนี้คาดว่าจะเรียกประชุมนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อดูกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ แต่เบื้องต้นคาดว่าคงมีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการลงมติและการประชุมของสนช.ทั้ง 7 คน เพื่อส่งข้อมูลให้นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช .เท่านั้น คงไม่มีอำนาจถึงขั้นชี้ขาดเรื่องสมาชิกภาพการเป็นสนช. โดยคณะอนุกรรมการฯมีกรอบเวลาทำงาน 30 วัน แต่จะเร่งดำเนินการให้รู้ผลโดยเร็วที่สุด

 

“วีระ”ตั้งข้อสังเกตุ สนช.เพิ่งแสดงหลักฐาน ชี้ ปกป้องกันเอง

ด้าน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด สนช. ทำใมไม่ออกมาชี้แจงสถิติการลาลงมติ สนช.7 คน ตั้งแต่ต้นที่ไอลอว์ออกมาเปิดเผยข้อมูล จนทำให้สังคมเข้าใจว่า ไปเตรียมหลักฐานมาแก้ต่าง ปกป้องกันเองหรือไม่ อีกทั้งยังมีการตรวจสอบกันเอง ซึ่งทำให้สังคมขาดความเชื่อถือ

ดังนั้นจึง ควรแก้ไขข้อบังคับการประชุมสนช.ว่า จากนี้ในสมัยประชุมหนึ่ง สมาชิกต้องมาประชุมอย่างน้อยร้อยละ 90 หาก มาไม่ถึง 1ใน 3 ต้องหมดสมาชิกภาพ ไม่ต้องมีการส่งใบลา เพราะเรื่องนี้หมายถึงความเสียหายของงบประมาณแผ่นดิน หากไม่มีเวลาทำงานก็ควรมารับตำแหน่ง เพราะมีคนอื่นที่พร้อมและมีเวลาทำงานอีกมาก

 

'ศรีสุวรรณ' เตรียมร้องปปช.สอบ 7 สนช.

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายพีระศักดิ์ รองประธาน สนช. คนที่ 2 ยืนยันว่า 7 สนช.ที่มีปัญหาเรื่องการลงมติไม่ครบ มีสถานภาพการเป็น สนช.ถูกต้อง เพราะมีการยื่นใบลาอย่างถูกต้อง ว่า สิ่งที่ สนช.ตรวจสอบมาไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบ สนช.ทั้ง 7 คน กรณีเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ เพราะไม่มาร่วมประชุมลงมติการพิจารณาต่างๆ ของ สนช.

พร้อมทั้งจะร้องขอให้ตรวจสอบนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา เนื่องจากสงสัยว่าจะช่วยเหลือ 7 สนช.หรือไม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประธาน สนช.จะอนุญาตให้ลาโดยไม่มีข้อจำกัด และไม่เรียกมาตักเตือน เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ทั้งหมดแล้ว เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เพราะได้รับเงินเดือนเป็นแสนบาท แต่ไม่ยอมมาปฏิบัติหน้าที่

 

'พิชัย' แนะ 'พรเพชร' ลาออก ปล่อยให้ สมาชิกทำผิด รธน.

ด้านนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงการลา ประชุมของ 7 สมาชิก สนช.ว่าที่ผ่านมาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยกำหนดกฎเกณฑ์ในลักษณะนี้ไว้ แต่พอมาถึง คสช.ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร จะทำงานได้อย่างดี มีระเบียบวินัย จึงวางกฎดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ

จากประสบการณ์การเป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีข้อครหาทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีการแสดงความรับผิดชอบ อย่างตนก็เคยลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องสปิริตในทางการเมือง

หากตนเองเป็นประธาน สนช.ตอนนี้ จะขอลาออก ในเมื่อมีการปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อบังคับ สนช.กำหนดให้ขาดลงมติเท่าไรก็ได้หากยื่นใบลา แต่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี

สนช.เล็งปรับแผนประชุม แก้ปมขาดลงมติ