รู้กันหรือยังปรับโครงสร้างการเสียภาษีใหม่ปี 2560 เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและวงเงินหักค่าใช้จ่าย พร้อมปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ คู่สมรส และบุตร หักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้ถึง 100000 บาท สำหรับผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 26000 บาท/เดือน ไม่ต้องเสียภาษี

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนในหลายรายการ ซึ่งจะทำให้คนที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียภาษีน้อยลงในปีภาษี 2560 นั้น มีรายละเอียดดังนี้

ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่าย

ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100000 บาท

ผู้ที่มีเงินได้จากค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น อันเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน

1. ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30000 เพิ่มเป็น 60000 บาท

2. ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30000 เพิ่มเป็น 60000 บาท

3. ค่าลดหย่อนสำหรับบุตร จากเดิม 15000 (ไม่เกิน 3 คน) เพิ่มเป็น 30000 บาท

4. ในกรณีที่สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120000 บาท

5. กองมรดก ให้หักลดหย่อนเพิ่มเป็น 60000 บาท

6. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วน หรือบุคคลในคณะบุคคลเพิ่มเป็นคนละ 60000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120000 บาท

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2560

ผู้ที่รายได้ไม่ถึง 150000 บาท / ปี ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี – ผู้ที่มีรายได้ 150001 – 300000 บาท / ปี เสียภาษี 5% – ผู้ที่มีรายได้ 3000001 – 500000 บาท / ปี เสียภาษี 10% – ผู้ที่มีรายได้ 500001 – 750000 บาท / ปี ต้องเสียภาษี 15% – ผู้ที่มีรายได้ 750001 – 1000000 บาท / ปี เสียภาษี 20% – ผู้ที่มีรายได้ 1000001 – 2000000 บาท / ปี เสียภาษี 25% – ผู้ที่มีรายได้ 2000001 – 5000000 บาท / ปี เสียภาษี 30% – ผู้ที่มีรายได้ 5000001 บาทขึ้นไป / ปี เสียภาษี 35%

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งนี้ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยต้องมีรายได้เดือนละ 26000 บาทขึ้นไปจึงจะเริ่มเสียภาษี

 

เครดิตภาพ : กรมสรรพากร