'พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ'ยืนยันมีแนวคิดเตรียมเรียกนักการเมืองปรึกษาหารือเพื่อยุติความขัดแย้ง ก่อนลงนามข้อตกลงร่วมกัน ด้านนายกฯ สนับสนุนแนวคิด 'พลเอก ประวิตร' ชี้การลงนามข้อตกลงเป็นถือสัจจะวาจา เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดให้พรรคการเมืองมาลงสัตยาบันร่วมกัน เพื่อสร้างความปรองดอง ว่า ขณะนี้เรื่องการสร้างความปรองดอง อยู่ระหว่างการเริ่มตั้งคณะกรรมการ

ซึ่งการให้พรรคคการเมืองลงนามข้อตกลงเพื่อยุติความขัดแย้ง เป็นเพียงแนวคิดขั้นต้นของพลเอก ประวิตร แต่ตนก็เห็นด้วย ที่พลเอก ประวิตร มีแนวคิดเรียกพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาพูดคุยกัน เพื่อร่วมมือกัน และสัญญาว่า ไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เรียกว่า เป็นสัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบัน คือพูดแล้วต้องไม่ลืม และต้องทำตามนั้น โดยฝ่ายการเมืองจะต้องไม่มีเงื่อนไขต่อรองใดๆ พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับพลเอก ประวิตร จะเป็นการเรียกทุกพรรคมาคุย และเสนอความคิดเห็นมา และบันทึกไว้ ก่อนนำมาพิจารณาว่า เรื่องใดควรนำมาปฏิบัติบ้าง แต่ต้องดูเรื่องกระบวนการทางกฎหมายด้วย โดยตนไม่ได้ต้องการจะปรองดองกับใครคนไหนเป็นพิเศษ แต่มองว่า ปัญหาทุกปัญหาของประเทศชาติจะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเรื่องปรองดงอย่าเพิ่งไปมองเรื่องนิรโทษกรรม หรือ ลดโทษ เพราะขณะนี้ยังพิจารณาไม่ถึงตรงนั้น

'พล.อ.ประวิตร'แจงสร้างปรองดอง ไม่เกี่ยวนิรโทษกรรม

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ตนดูแลการสร้างความปรองดอง ซึ่งตนได้วางแผนให้ทุกพรรคการเมืองมาร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองในสังคมไทย การปรองดองไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ประชาชนที่เข้าไปสังกัดพรรคการเมือง ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้

โดยยืนยันว่า การสร้างความปรองดอง ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่มีการพูดถึงนิรโทษกรรม และการอภัยโทษ รวมทั้งต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่เป็นการตกลงร่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อให้เกิดความปรองดองของประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งจะให้ทุกฝ่าย และตัวแทนแต่ละพรรคได้พูดคุยแสดงความเห็นว่า ต้องการอะไรบ้าง เพื่อให้อยู่กันให้ได้

โดยจะตั้งคณะกรรมการรสร้างความปรองดองขึ้นมา ซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้รับฟังแล้วรวบรวมประเด็นทั้งหมดเพื่อจัดทำเป็นกติกาก่อนนำไปชี้แจงให้ทุกพรรคและทุกฝ่ายได้รับทราบกติกาส่วนการตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดองได้เสร็จสิ้นไปแล้ววานนี้ (16 ม.ค.)

ตั้งรองนายกฯ 6 คน ดูแลคณะกรรมการย่อย 4 ชุด

สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ป.ย.ป.ซึ่งจะมีคณะกรรมการ 4 ชุดย่อย จะมีรองนายยกฯเป็นผู้ดูแลประกอบด้วย

1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล

2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ จะมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูล

3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะมีพลเอก ประวิตร เป็นผู้ดูแล

และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ จะมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นผู้ดูแล ซึ่งนายกฯจะมีการแต่งตั้งผู้ดูแลคณะกรรมการย่อยแต่ละชุดอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้

'สุวิทย์'ชงแปลงวิป 3 ฝ่ายเป็นกมธ.ของป.ย.ป.

ส่วนนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ป.ย.ป. เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (16ม.ค.) ได้หารือกับ นายวิษณุ พลเรือเอก ณรงค์ และ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เพื่อพูดคุยถึงการทำงาน ร่วมกันเพื่อเตรียมการปฏิรูป และเสนอให้เพิ่มบทบาทของวิป 3 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สปท.

จากเดิมที่มีเพียงตัวแทนมาคุยกัน ให้เพิ่มกรรมาธิการของ สนช.และ สปท.มาร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปและสร้างความปรองดองด้วย เป็นการแปลงวิป 3 ฝ่าย มาเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นคณะที่ 2 ของ ป.ย.ป.

เตรียมหารือ 'พล.อ.ประวิตร' โครงสร้างปรองดองวันนี้
นายสุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับรายชื่อรองนายกฯ ที่จะมานั่งดูแลใน 4 คณะย่อยของ ป.ย.ป.นั้น ยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีรายชื่อปรากฏออกมา 

ส่วนช่วงเช้าวันนี้ (17 ม.ค.) ตนมีกำหนดการหารือกับ พลเอก ประวิตร เพื่อหารือถึงโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งจะรายงานผลการหารือทั้งหมดต่อนายกฯ ในวันนี้ (17 ม.ค.)

'เสรี'หนุน'พล.อ.ประวิตร'นั่งคนกลางเจรจาปรองดอง

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานสปท.ด้านการเมือง กล่าวว่า ตนสนับสนุน พลเอก ประวิตร ในการเชิญนักการเมืองมาหารือ เพื่อสร้างความปรองดองเต็มที่ เพราะเรื่องปรองดองต้องมีเจ้าภาพหลักซึ่งเป็นแกนกลาง 

ตนถือว่า พลเอก ประวิตร เหมาะสมในหน้าที่นี้ เพราะเป็นบุคคลที่สามารถขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ ส่วนตัว คิดว่า คุณสมบัติคนที่จะเข้ามาในวงเจรจา จะต้องเป็นแกนนำ และต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มๆนั้นอย่างแท้จริง ต้องตัดสินใจเสมือนเป็นตัวแทนแต่ละฝ่ายได้

นายกฯหนุนแนวคิด 'พล.อ.ประวิตร' เรียกนักการเมืองคุยปรองดอง