ส่อวุ่น MOU พรรคร่วม "เสรีพิศุทธ์" สั่งแก้ 8 ข้อ - จตุพรฟันธง "พิธา" พ่ายตั้งรัฐบาล

เกาะติดปมประเด็นการเมือง โดยเฉพาะวันที่ 22 พ.ค. 66 ซึ่งจะมีการเซ็น MOU จัดตั้งรัฐบาล

โดยวันนี้นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ ระบุว่า "ผลการพูดคุยเพื่อจัดทำ MOU ร่วมกันในวันนี้บรรลุผลไปได้ด้วยดีครับ พรรคก้าวไกลต้องขอขอบคุณหัวหน้าพรรคและแกนนำของทุกพรรคที่เราจะจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย โดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง พรุ่งนี้พวกเราจะแถลง MOU ในเวลาเดียวกันกับการประกาศรัฐประการเมื่อ 9 ปีก่อน"

แต่ทั้งนี้ ก็มีการจับตามองโดยเฉพาะบางประเด็นในMOU มีบางพรรคไม่เห็นด้วย อย่างเช่น พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วยในประเด็นยกเลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา (สุราก้าวหน้า) และ สมรสเท่าเทียม

ส่วนพรรคเพื่อไทย ไม่ต้องการให้เขียนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพราะถูกมองว่ามีส่วนได้เสีย

อีกประเด็นใน MOU ถูกพรรคร่วมมองว่า บางประเด็นใน MOU ควรบรรจุในคำแถลงนโยบาย ตอนเป็นรัฐบาลแล้ว MOU ควรเป็นกรอบหรือหลักการกว้างๆ

ขณะที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 8 ว่า พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้ร่างMOUมาให้พรรคร่วมพิจารณา ยอมรับว่าสมัยก่อนๆ ไม่มีการร่างMOUแบบนี้ โดยเสนอมาในวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่วนของพรรคเสรีรวมไทย มองว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นข้อตกลงร่วมกัน ไม่ใช่กฎหมาย เวลาเขียนก็ต้องเขียนให้กว้างๆ ไม่ใช่เขียนนโยบายมาผูกพรรคร่วม ทางพรรคจึงได้แก้ไขเอ็มโอยูฉบับที่พรรคก้าวไกลส่งมา หลักๆ ข้อ

ส่วนข้อมูลเรื่องการแก้ไขMOU ของพรรคก้าวไกล ทางพรรคเสรีรวมไทย มีทั้งสิ้น 8 ข้อ และมีหมายเหตุไป 3 ข้อ อาทิ เรื่องสุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม และมาตรา112 ซึ่งเรียกว่าเป็นการเสริมให้พรรคก้าวไกลได้นำไปพิจารณา ส่วนจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น คาดว่าน่จะทราบพร้อมกันในวันพรุ่งนี้ 22พฤษภาคม สำหรับประเด็นมาตรา 112 ที่คนตั้งข้อสังเกตว่า แก้ไข หรือ ยกเลิก แต่ไม่ได้บรรจุอยู่ในMOU จะเป็นปัญหาหรือไม่

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช. เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกล จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เนื่องจากขั้วอำนาจเก่ามีการออกแบบ รัฐธรรมนูญที่ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภาร่วมโหวต นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นกลไกที่ล็อกไว้อยู่แล้ว ว่าผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการโหวตทั้งสองสภาต้องมีคะแนนกึ่งหนึ่ง จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ต่ำกว่า 276 เสีย จากเสียง ทั้งสองสภาที่รวมกันแล้วมีทั้งสิ้นจำนวนทั้งหมด 750 เสียง ซึ่งขณะนี้พรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองอื่นที่แถลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลรวมคะแนนเสียงกันได้เพียง 313 เสียง และตนเองเชื่อว่าฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ที่มีการจัดตั้งของขั้วรัฐบาลอำนาจเก่า ก็จะใช้วิธีการงดออกเสียงจึงจะทำให้ไม่ได้เสียงโหวตตามที่กำหนด ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาก็จะนิ่งเฉยแต่ก็อาจจะมีวุฒิสภาบางคนที่จะยอมโหวตให้ แต่ก็มีเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้น อย่างมากก็ไม่เกิน 20 เสียง ซึ่งรวมกันแล้วก็ยังไม่พออยู่ดี และจะไปหาคะแนนเสียงจากที่ไหนได้อีก

และหากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะนั่งรักษาการไปตามรัฐธรรมนูญที่ไม่กำหนดเวลาจนกว่าจะ ได้นายกและ คณะรัฐมนตรีใหม่ซึ่งเป็น ไปตามที่ฝ่ายขั้วอำนาจเก่ามีการกำหนดไว้แล้วถึงแม้จะเลือกตั้งไม่ชนะก็ตาม

นอกจากเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาแล้วพรรคก้าวไกล ก็ยังมีปัญหาเรื่องของนายพิธา หัวหน้าพรรคแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่องการถือหุ้นไอทีวี เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต. ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งตนเองเชื่อว่า อาจจะโดนตัดสิทธิ์เหมือนดังเช่นนายธนาธร และอาจจะส่งผลกระทบกับสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลด้วย ที่นายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคได้มีการเซ็นรับรอง ให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกตั้งได้ของพรรค โดยหากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เขื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะมาจัดตั้งรัฐบาล ในฐานะพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง ประกอบกับพรรคก้าวไกลมีแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีเพียงแค่คนเดียว แต่พรรคเพื่อไทยเองก็มีเรื่องร้องเรียนอยู่หลายเรื่อง
ก็ไม่รู้ว่าจะโดนเช่นเดียวกับนายพิธาหรือไม่ และหากพรรคเพื่อไทยจะไปร่วมกับ รัฐบาลเดิมที่มันเสียงข้างน้อยเพื่อให้วุฒิสภายกมือโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้มวลชนของพรรคก้าวไกล ที่จะมีการเริ่มขยับแล้วในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ เกิดความไม่พอใจและจะทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นแน่นอน ตนเองจึงอยากให้พรรคก้าวไกลให้ใช้ความคิดว่าความเป็นจริงตอนนี้ต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง

รัฐบาลก้าวไกลร้าว?