"นายกฯ" ยินดี "กล้วยหอมทองหนองบัวแดง" จ.ชัยภูมิ ขึ้นทะเบียน GI ขณะที่ "ทุเรียนไทย" ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันช่วยมาตรฐานการผลิต พร้อมส่งเสริมผลไม้ไทยคู่การใช้นวัตกรรมควบคุมคุณภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม

วันที่ 11 พ.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ได้รับทราบว่า “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” ของจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) สะท้อนคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีศักยภาพและมีอัตลักษณ์จากแหล่งผลิตท้องถิ่น ขณะที่ “ทุเรียนไทย” มีแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK ช่วยควบคุมมาตรฐานการผลิต พร้อมส่งออกผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศควบคู่การใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “กล้วยหอมทองหนองบัวแดง” (Hom Thong Nong Bua Daeng Banana) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นการนำกล้วยหอมทองพันธุ์กาบดำจากจังหวัดลพบุรี มาปลูกในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแร่ธาตุโพแทสเซียมที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกล้วย ส่งผลให้กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มีผลยาวใหญ่ สีเหลืองนวล เนื้อแน่น เหนียวนุ่ม และมีเนื้อละเอียดกว่ากล้วยชนิดอื่น ลักษณะเปลือกมีความหนา ไม่มีจุดดำ เนื้อกล้วยจึงไม่ช้ำ ทำให้สะดวกและเอื้อต่อการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่สำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางที่จะส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DEPA) บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน KASETTRACK และกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ยังได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน KASETTRACK เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สร้างมาตรฐานการผลิตทุเรียนคุณภาพ โดยระบบจะสร้างขั้นตอนการผลิตทุเรียนที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรสามารถบันทึกและวิเคราะห์ความก้าวหน้ากิจกรรมการผลิต และการดูแลรักษาในทุกระยะการเติบโต สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของไทย โดยปัจจุบันเกษตรกรใช้งานแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 รายใน 8 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และสุโขทัย พร้อมตั้งเป้าหมายว่า KASETTRACK จะดูแลการผลิตทุเรียนไทยคุณภาพได้กว่า 1 แสนตัน สร้างเกษตรกรคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ไม่น้อยกว่า 10,000 รายในปี 2569

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ผลักดันและพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งการส่งเสริมสินค้า GI และการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อควบคุมการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าทางการค้า คงมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยในตลาดโลก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน” นายอนุชาฯ กล่าว