เฮลั่น!เผยผลตรวจน้ำบาดาลโซดาสุโขทัย พบคุณภาพใกล้เคียงน้ำแร่ฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีมีการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่หมู่ 7 ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย แล้วปรากฏว่าเจอน้ำมีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น ชาวบ้านสงสัยว่าอาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก เหมือนกับที่พบในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ก็ได้เข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบ

ล่าสุด นายสุดใจ วงชารี ผู้อำนวยการกองมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า จากผลการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลโซดาที่สุโขทัยไปวิเคราะห์ โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร พบว่าแหล่งกำเนิดน้ำแร่ที่สุโขทัย มีปริมาณไบคาร์บอเนตและแคลเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง ใกล้เคียงกับน้ำแร่ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส แต่ทว่าต้องมีการกรองก่อนที่จะนำไปดื่มบริโภค เนื่องจากในน้ำบาดาลโซดาแหล่งนี้ มีความเป็นกรดอ่อนๆ ค่า pH 6.2 ความกระด้าง 530 ppm. แต่ค่าปกติจะอยู่ที่ 300 ppm. และสูงไม่เกิน 500 ppm. อีกทั้งยังมีแร่แมงกานีส 0.6 ppm. ซึ่งทั่วไปจะอยู่ที่ไม่เกิน 0.3 ppm. ฉะนั้นถ้าจะนำไปดื่มบริโภค จะต้องกรองแร่แมงกานีสออกเสียก่อน ให้ค่าเป็น 0 หรือไม่เกิน 0.3 ppm. เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ แหล่งนํ้าบาดาลโซดา ส่วนใหญ่มาจากหินปูน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เดินทางขึ้นมาตามรอยแยกของชั้นดิน และรวมตัวกับนํ้าบาดาลในชั้นหินกักเก็บนํ้าบาดาลด้านบน โดยมีชั้นหินปกคลุมปิดทับอยู่ ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่สามารถซึมผ่านออกชั้นบรรยากาศได้ “นํ้าบาดาลโซดามีคุณสมบัติค่อนข้างเป็นกรด มีไบคาร์บอเนตในนํ้าค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลทําให้เกิดฟอง และให้รสชาติที่สดชื่น และในนํ้าก็อาจมีองค์ประกอบบางตัวที่มากเกินไป จึงต้องอาศัยกระบวนการตกตะกอน หรือการกรอง โดยต้องไม่ทําให้สารประกอบที่สําคัญในนํ้าแร่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

สำหรับน้ำบาดาลโซดา น้ำแร่ธรรมชาติชนิดมีฟองจากสุโขทัย คือ มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติอย่างแท้จริง น้ำแร่นี้ได้รับการกรองผ่านชั้นหินจํานวนมาก และได้รับการปกป้องจากสภาพแวดล้อมภายนอก ให้ความสะอาดสดชื่น แต่ทว่าก่อนนำมาดื่มบริโภค จะต้องกรองแร่แมงกานีสออกก่อนเพื่อความปลอดภัย

ด้าน พ.ท.คะเนตร รักวุ่น ข้าราชการบำนาญ เจ้าของบ่อน้ำบาดาลโซดาสุโขทัย กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นดีใจกับผลวิเคราะห์ที่ออกมา ต่อจากนี้ก็คงต้องมีการพูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน เพื่อหาช่องทางสร้างประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาจทำเป็นน้ำแร่หยอดเหรียญ ขายให้ชาวบ้านแค่ลิตรละ 1-2 บาท หรือผลิตน้ำบรรจุขวดส่งขาย โดยผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป