"กกต." ขอโทษลงทะเบียนล่วงหน้าล่มเมื่อคืน ยันจะดูแลให้ไม่เสียสิทธิ์ -ไม่ขอตอบขยายเวลาเพิ่มอีกหรือไม่ พร้อมสั่งเพื่อไทยแจงแหล่งเงินนโยบายแจกเงินดิจิตอล 1 หมื่น ภายใน 7 วัน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนแห่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายจนระบบล่ม ว่า ทางสำนักทะเบียน กระทรวงมหาดไทย  ชี้แจงว่าศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนละลงทะเบียนได้ 4,000 คนต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ทางสำนักทะเบียน พยายามที่จะแก้ไข เมื่อช่วงเช้าก็ได้มีการประสานว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้คนที่เข้าไปลงทะเบียนแต่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ได้ลงทะเบียน

 

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการขยายระยะเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้านายแสวง  กล่าวว่า  ยังไม่ขอตอบขอให้ทางสำนักทะเบียนพิจารณาแก้ไขปัญหาก่อน ว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

 

ส่วนตัวเลขลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร ขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลงทะเบียนมาแล้วกว่า 2.4 ล้านคน และตอนนี้ยังกรอกรายละเอียดลงในระบบไม่ครบคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ลงทะเบียนจะใกล้เคียงกับเมื่อการเลือกตั้ง2562ครั้งที่ผ่านมาที่ 2.6 ล้านคน  พร้อมคาดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยละ 80

 

นายแสวง ยังระบุถึงการรายงานผลการเลือกตั้งว่า จะรายงานผลหลังนับคะแนนเสร็จ ไม่ได้ทำแบบเรียลไทม์ตามที่มีข้อเรียกร้อง โดยหลังปิดหีบ 17:00 น ไม่น่าจะเกิน 19:00 น จะเริ่มรายงานได้และไม่เกิน 22:00 น น่าจะทราบผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ กกต. ไม่ใช้วิธีรายงานแบบแอปพลิเคชั่น เนื่องจาก ยังติดปัญหาไม่สามารถแก้ไขจากการกรอกข้อมูลได้ แต่ยืนยันว่า การรายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการถูกต้อง จะเร็วขึ้นกว่าเดิม มีความโปร่งใส ตรวจสอบความถูกต้องได้

ส่วนกรณีให้พรรคเพื่อไทย ชี้แจงที่มาของเงิน ที่จะใช้ในนโยบายเติมเงิน ดิจิทัล​คนละ 10,000 บาท ภายใน 7 วันนั้น นายแสวง กล่าวว่า เพราะยังไม่ได้บอกที่มาของเงิน ซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องบอกเพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมแบบใดซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลรายละเอียด อาจเข้าข่ายขัด กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง  (5) แต่ขณะนี้ ยังไม่ถือว่ามีความผิดเพราะการไม่แจ้งไม่ถือว่าผิด

 

ส่วนที่นายศรี​สุวรรณ​ จรรยา​ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่น ให้กกต. ตรวจสอบ ว่า นโยบาย เติมเงินหมื่น บาทเข้าสู่ระบบดิจิทัล จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ และเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามข้อห้ามใน ม.73(1) และ(5) แห่ง พรป.เลือกตั้ง ส.ส.2561 หรือไม่นั้น นายแสวง กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้