ชาวบ้าน อ.นาโยง จ.ตรัง น้ำตาร่วง ระบุ กรมทรัพยากรน้ำ ทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำฯ แต่กลับไปโค่นทำลาย "ต้นสาคู" อายุหลายชั่วอายุคน ระยะทางนับ 3 กม. เสียหายยับประเมินค่าไม่ได้ กระทบวิถีชีวิตคนในชุมชน เสมือนทุบหม้อข้าวหม้อน้ำ ถามหาคนรับผิดชอบ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงตรวจสอบ

วันที่ 30 ม.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องราวความเดือดร้อนจากชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 10 ต.โคกสะบ้า และหมู่ 7 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง และพื้นที่ใกล้เคียง ภายหลังจากทางสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สงขลา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลำชานสามัคคี คนทำนาโคกสะบ้า ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง โดยระบุผลลัพธ์ของโครงการฯ ในเอกสารว่า จะช่วยเก็บกักน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณปี พ.ศ.2566 จำนวน 25,000,000 (ยี่สิบห้าล้านบาทถ้วน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อปรับปรุงแหล่งน้ำให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ 2.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแก้ไขปัญหาอุทกภัย 3.เพื่อฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ

ชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวไปดูสภาพจากการขุดลอกคลองและก่อสร้างคันคลองปรากฏว่ารถแบ็กโฮ และรถจักรกลได้ขุดนำเอาต้นสาคู ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจวิถีชุมชนนับหลายพันต้นที่ขึ้นอยู่ริมลำคลอง โค่นล้มเกือบทั้งหมด ห่างจากลำคลองไปกว่าข้างละ 15 เมตร มีทั้งต้นเล็กใหญ่ โดยต้นที่สูงประมาณ 15 เมตรก็ได้โค่นลงมาด้วยเช่นกัน มีเหลือให้เห็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ก่อนจะนำลำต้นมาทับถมกันเป็นแนวคันคลอง ซึ่งโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ย.2565 และคาดว่าจะสิ้นสุดโครงการประมาณเดือน ก.ย. 2566

นายประศาสน์ สองสัน อายุ 61 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 ต.โคกสะบ้า กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำไมถึงต้องมาทำลายป่าสาคูของชาวบ้าน ซึ่งป่าสาคูแห่งนี้ได้ขึ้นและจดทะเบียนในการอนุรักษ์ดูแลป่าสาคูมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และชาวบ้านได้หาอยู่หากินกับป่าสาคูมากันตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่นการทำด้วงสาคู , แป้งสาคู และอื่นๆ เพราะป่าสาคูแห่งนี้ถือเป็นป่าสาคูแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ชาวบ้านต่างรู้สึกเสียดาย ที่ทุกคนต่างอุตส่าห์อนุรักษ์กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนกระทั้งมาถึงปีนี้ 2566 ทางกรมทรัพยากรน้ำ กลับมาทำลายป่าสาคู ที่มีทั้งขึ้นเองโดยธรรมชาติและชาวบ้านร่วมกันปลูก ตลอดริมคลองลำชาน เพื่อไว้หาอยู่หากินอีกส่วนหนึ่ง เพราะสาคู 1 ต้นกว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากแป้งต้องอายุ 20-25 ปีขึ้นไป ตอนนี้ตนอายุ 61 ปีแล้ว ป่าสาคูมีมาตั้งแต่รุ่นคุณทวดและก่อนหน้านั้นอีก

นายประศาสน์ กล่าวอีกว่า ก่อนดำเนินโครงการฯ ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ผลสรุปในการทำประชาพิจารณ์ขณะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งว่าจะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นสาคู หรือต้นไม้ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามแนวสายน้ำคลองลำชาน แต่ปรากฏว่าหลังจากดำเนินโครงการกลับไม่มีป้ายโครงการติดประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้รายละเอียด เช่น ระยะทาง กว้าง ยาว ลึก ในการขุดลอกลำคลอง จึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยให้กับชาวบ้าน

นายประศาสน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ระยะทางสองฟากฝั่งที่มีการดำเนินโครงการต้นสาคูที่ถูกทำลายระยะทางไม่ต่ำกว่า 3-4 กิโลเมตร ทั้งต้นสาคูอ่อน และต้นแก่ ซึ่งหากคาดการณ์ต้นสาคูถูกทำลายไปแล้วกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนต้นได้ เนื่องจากถูกทำลายเป็นจำนวนมาก และตอนนี้ที่กังวลคือทางผู้รับเหมาและเจ้าหน้าที่อาจจะทำลายส่วนที่เหลืออยู่ 30-40 เปอร์เซ็น เพิ่มเติมไปอีกด้วยหรือไม่ เพราะไม่รู้ระยะทางที่มีการดำเนินการเลย

ด้าน นายวีรพล เกิดผล อายุ 61 ปี คณะกรรมการชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู อ.นาโยง กล่าวว่า สาคูที่ชาวบ้านเคยอนุรักษ์และเคยได้หาอยู่หากินถือเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของลูกหลานถูกทำลายไปหมดเลย วันนี้ความรู้สึกที่เคยภาคภูมิใจว่าเรามีสิ่งที่ดีอยู่ในชุมชนมันหายไปเกือบหมดแล้ว ด้วยโครงการนี้ ที่อาจจะเป็นความต้องการของประชาชน หรือของหน่วยงานใด ซึ่งชุมชนต้องการได้โครงการนี้ เพราะเป็นผลดีกับชาวบ้าน แต่ต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จริงๆ แล้วถึงหน่วยงานใดจะออกมาชี้แจงหลังจากนี้ ก็ไม่ได้เป็นผลอะไรแล้ว เพราะทรัพยากรที่โดนทำลายไปแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะหวนกลับคืนมาให้กับชุมชนได้เหมือนเดิมอีกแล้ว ได้แต่เพียงขอร้องว่าในส่วนที่ยังมีเหลืออยู่อย่าได้ทำลายอีกเลย สงสารชาวบ้าน เพราะชาวบ้านได้อาศัยต้นสาคู มาประกอบอาชีพ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้อาศัยต้นสาคูแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องได้ดี เนื่องจากสามารถจำหน่ายแป้งสาคูกันได้ถึงกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ทำให้ชาวบ้านอยู่รอด