จึ้งไม่ไหว! ป้ายรถเมล์อะเมซิ่งไทยแลนด์ ไฮเทคสุด แต่มองไม่เห็นรถเมล์ ถามคนสร้าง เอามันสมองระดับไหนออกแบบ??

วันที่ 10 ธ.ค.65 สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เผยแพร่ภาพ ระบุข้อความว่า "ป้ายนั่งรอรถประจำทางสายธัญบุรี อเมซิ่งสุด ๆ ครับแต่ว่า คิดได้ไงครับผมลองนั่งรอรถประจำทาง แต่มองไม่เห็นรถประจำทางเลยครับ (สรุปคนรอรถประจำทางต้องมายืนริมถนนเพื่อให้เห็นรถประจำทาง????) อยากถามหน่วยงานที่รับผิดชอบเอามันสมองระดับไหนออกแบบครับเฮ้อออ งบภาษีของประชาชนจัดไปให้เยอะ ๆ นะครับสวัสดีปทุมธานี ปล.#คิดให้ดีๆ #เค้าอาจสร้างป้ายอเมซิ่งให้ใหญ่ๆเพื่อกันรถพุ่งมาชนคนนั่งรอรถเมล์ครับ" จากการตรวจสอบพบว่า จุดที่มีการก่อสร้างศาลารอรถประจำทางมีทั้งหมด 2 จุดคือบริเวณถนนเลียบคลองหกข้างศาลจังหวัดธัญบุรี และถนนรังสิต-นครนายกขาเข้าตรงข้าม สภ.ธัญบุรี ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ

บริเวณถนนเลียบคลองหกข้างศาลจังหวัดธัญบุรี พบว่ามีการก่อสร้างศาลารอรถประจำทางด้วยโครงเหล็กมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และมีจุดชาร์จไฟแบบปลั๊กเสียบ และ USB นอกจากนี้ยังมีป้ายรถเมล์บ่งบอกชื่อเทศบาลจำบลธัญบุรี รวมทั้งป้ายรถเมล์สาย 538 และ TAXI METER แต่จุดที่สะดุดตาแก่ประชาชน ผู้ที่ใช้ศาลารอรถประจำทางคือป้ายไฟที่มีสติ๊กเกอร์อเมซิ่งไทยแลนด์ติดอยู่ ซึ่งติดตั้งปิดบังการมองเห็นรถประจำทางที่จะผ่านมาในเส้นทาง รวมทั้งยังปิดบังสายตาทำให้เป็นมุมอับผู้ขับขี่รถประจำทางก็ไม่สามารถมองเห็นผู้โดยสารได้ แต่จุดนี้มีการดึงสติ๊กเกอร์อเมซิ่งไทยแลนด์ออกไปแล้ว

อีกจุดหนึ่งถนนรังสิต-นครนายกขาเข้าตรงข้าม สภ.ธัญบุรี ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี พบว่าจุดดังกล่าวในช่วงเลิกเรียนจะมีนักเรียนมารอผู้ปกครองและรถประจำทาง ซึ่งเป็นศาลารอรถประจำทางที่สร้างจากงบประมาณของหน่วยงานเดียวกัน แต่จุดนี้ยังไม่มีการดึงสติ๊กเกอร์อเมซิ่งไทยแลนด์ออก

ด้านนางสาวอะรีดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ศาลารอรถประจำทางแห่งนี้มีประโยชน์เพราะของเก่าเริ่มชำรุดทรุดโทรมแต่มีเพียง1จุดที่บดบังสายตาทำให้มองไม่เห็นรถประจำทางที่จะวิ่งผ่านมา หากมีรถประจำทางมาตนเองไม่สามารถมองเห็นได้ต้องออกไปยืนริมถนนจึงจะสามารถมองเห็น อยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทำการย้ายป้ายไฟที่มีข้อความอเมซิ่งไทยแลนด์ออกไปอีกฝั่งหนึ่งเพราะจะทำให้มองเห็นรถประจำทางที่จะสัญจรผ่านไปมาได้และยังช่วยกันแสงแดดในช่วงเวลาบ่ายได้อีกด้วย โดยศาลแห่งนี้สร้างมาแล้วประมาณ 3-4 เดือน