รัฐบาลชื่นชมแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากดีไซเนอร์ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค ดันผ้าไหมไทยเป็นสัญลักษณ์มิตรภาพเอเปค สอดรับแนวคิด BCG ตอกย้ำนายกรัฐมนตรีผลลักดันซอฟต์พาวเวอร์

วันที่ 19 พ.ย.65 นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชื่นชมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) 2022 ที่มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทย "Thai Silk Through The Eyes of APEC" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริเวณศูนย์สื่อมวลชน เมื่อค่ำวันที่ 18 พ.ย.65

มีความสวยงามสร้างความประทับใจ และความพิเศษเนื่องจากใช้ผ้าไหมไทยมรดกอันล้ำค่าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นสีสันสดใสเงางามจากภูมิปัญญาไทย ผ่านการออกแบบโดยดีไซเนอร์จากเขตเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขต

ได้แก่ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เปรู ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ชิลี แคนาดา บรูไน รัสเซีย และออสเตรเลีย

โดยนางสาวทิพานัน กล่าวว่า การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทยจากผลงานของดีไซเนอร์ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค สื่อถึงเจตนารมณ์ในการให้ผ้าไหมเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ เชื่อมต่อความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบของทุกเขตเศรษฐกิจเข้าด้วยกันรวมเป็นหนึ่งเดียว ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละเขตเศรษฐกิจ สอดรับกับแนวคิดที่ไทยนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นแนวทางที่ไทยนำเสนอต่อที่ประชุมเอเปค ในแนวทางส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ตามเป้าหมายกรุงเทพฯ 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอกย้ำความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะนำผ้าไหมไทยเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ อันมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้ว ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก และเมื่อผ่านการออกแบบจากดีไซเนอร์นานาชาติ ช่วยให้ผ้าไหมเป็นหนึ่งในผ้าที่สามารถนำไปสร้างสรรค์ได้หลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมให้รักษาฐานความนิยม และต่อยอดเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าได้ทั่วโลก เป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมทั้ง 5 F ได้แก่ 1. Food (อาหาร) 2. Film (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์) 3. Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) 4. Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย) และ5.Festival (เทศกาลประเพณี) เพื่อให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างรายได้และการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน