กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมให้กำลังใจบุคลากร และมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเน้นย้ำประชาชนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง และให้ระวังสัตว์มีพิษกัด/ต่อย รวมถึงระวังอุบัติเหตุ การจมน้ำ

วันนี้ (10 ตุลาคม 2565) ที่ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมคณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค โดยมีนายแพทย์ภุชงค์ ไชยชิน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ร่วมลงพื้นที่ติดตามการให้บริการด้านการแพทย์แก่ผู้ประสบอุทกภัย ที่ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี พร้อมให้กำลังใจบุคลากร และมอบยา เวชภัณฑ์ ถุงอุปโภค บริโภค ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า จากสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมามีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และบางพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ในหลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม กรมควบคุมโรคจึงลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งมีหลายจุดที่มีน้ำท่วมสูง ซึ่งในภาวะน้ำท่วมมีโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังดังนี้

1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม
2.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง
3.กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือสัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ รวมถึงอุบัติเหตุ การจมน้ำ การขับขี่ยานพาหนะผ่านบริเวณน้ำไหลเชี่ยว

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ประสบอุทกภัย ที่ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 2,143 ครัวเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,807 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคได้รับผลกระทบ เป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย และติดบ้าน 5 ราย โดยขอให้ประชาชนดูแลตนเองและกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยติดบ้าน/ติดเตียง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ การจมน้ำ


โดยตามคำแนะนำสำหรับการป้องกันภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ดังนี้

1) การป้องกันการพลัดตกน้ำ จมน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือจับปลาบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเชี่ยว หากจําเป็นต้องทํากิจกรรมทางน้ำควรเตรียมอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อม เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง หรืออุปกรณ์ที่ช่วยลอยตัวไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อยู่ตามลำพัง ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดและอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ

2) การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำมาหลบซ่อนอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง หากต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง ป้องกันสัตว์มีพิษที่อยู่น้ำกัดต่อย

3) การป้องกันไฟฟ้าชอร์ต ให้สับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟ ย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และไม่เดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่วจะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

4) การป้องกันโรคติดต่อ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้ฉี่หนู และโรคตาแดง สามารถป้องกันโดยการกินอาหารปรุงสุก สะอาด ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย หลีกเลี่ยงการขับถ่ายลงในแหล่งน้ำ ให้ขับถ่ายลงในถุงดำ โรยปูนขาว มัดให้แน่น และส่งกำจัดต่อไป นอกจากนี้ หากน้ำที่ท่วมขังกระเด็นเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด หรือเมื่อมีอาการป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคประสานหน่วยงานส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบอุทกภัยและดูแลสุขภาพประชาชน มีระบบการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม เพื่อป้องกันการระบาดในพื้นที่ หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”