"บิ๊กป้อม" ลุยชัยนาท อ่างทอง อยุธยา สั่งเร่งช่วยเหลือจังหวัดจมน้ำกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด  ขณะชาวบ้านรอต้อนรับคึกคัก ไม่พลาดขอหอมแก้ม ด้าน "สทนช." รายงานยอดปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 32 จังหวัด แต่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยายังน้อยกว่าปี 54 และปี 64

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารเดินทางลงพื้นที่ภาคกลาง จ.ชัยนาท และ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง หลังเพิ่มปริมาณการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.จังหวัดชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ สมาชิกพรรคพลังประรัฐ ร่วมติดตามลงพื้นที่ด้วย 

 

ทั้งนี้ มีประชาชนชาวจังหวัดชัยนาทนำพวงมาลัย ผ้าขาวม้ามาผูกเอวเพื่อเป็นการต้อนรับ พร้อมชูป้าย "คนชัยนาทรักลุงป้อม" นอกจากนี้ ยังมีสาวมาขอหอมแก้มพลเอกประวิตรอีกด้วย

 

พลเอกประวิตร  กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุ "โนรู" ทำให้ฝนตกหนักมากและเกิดน้ำหลากน้ำท่วมขังที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนป้องกันและรับมือล่วงหน้าโดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี และภาคกลาง จ.ชัยนาท ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัด กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมให้ สทนช.ประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแผนการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเตรียมแผนการส่งน้ำเข้าทุ่ง เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ และมอบหมายกรมชลประทานเร่งรัดการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

ด้านเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 18,057 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 73% ของปริมาณการกักเก็บ และยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 6,814 ล้าน ลบ.ม. โดยการระบายน้ำ ณ สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 2,643 ลบ.ม./วินาที ซึ่งพบว่าน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 54 ที่ระบายในอัตรา 3,628 ลบ.ม./วินาที และยังน้อยกว่าปี 64 อัตรา 2,776 ลบ.ม./วินาที แม้ว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 แต่ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันล่วงหน้าตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนทุกขนาด และพื้นที่แก้มลิง เพื่อชะลอน้ำหลากในพื้นที่ตอนบนให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้น้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ยังอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบ้าง ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 32 จังหวัด อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่  สุโขทัย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ลพบุรี เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท ชลบุรี และพังงา เป็นต้น