MEA ครบรอบ 64 ปี ก้าวสู่ความท้าทาย “CHALLENGING THE FUTURE” มุ่งสู่อนาคตใหม่ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

 


นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา MEA ครบรอบ 64 ปี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นี้ MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีภารกิจที่สำคัญ ภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านเพื่อจะก้าวสู่ความท้าทายครั้งใหม่ตามแนวทาง "64th MEA CHALLENGING THE FUTURE" ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าสูงสุดในทุกมิติ

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 64 ปี MEA ได้ดำเนินการตามแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้เหมาะสม กับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สามารถให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยปัจจุบันได้ดำเนินโครงการ Smart Metro Grid ในพื้นที่นำร่อง 9 ตารางกิโลเมตร บริเวณถนนพระราม 4 พญาไท เพชรบุรี และรัชดาภิเษกมีการติดตั้ง Smart Meter จำนวน 33,265 ชุด ทำให้สามารถเชื่อมโยงการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าได้ผ่านระบบ Online รวมถึงสามารถประมวลผลวิเคราะห์เพื่อการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าได้ นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังประกอบด้วยการติดตั้งระบบบริหารจัดการที่มีการรับส่งข้อมูลได้แบบสองทาง (Two-Way Communication) มีคุณสมบัติในการ Monitor และแสดงผลได้ทันที (Real-Time) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้าในการบริหารจัดการด้านพลังงาน และเป็นเครื่องมือสนับสนุน การวิเคราะห์บริเวณที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ เข้าแก้ไข ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น

ด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) ยังเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ MEA มุ่งเน้น ให้เกิดการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตอบสนองแผนงานด้านพลังงานในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยในปี 2565 เป็นวาระครบรอบ 10 ปี ที่ MEA ได้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV นับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน MEA ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเภท EV และ E-Bus การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการชาร์จ และการเข้าถึงข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน ไปจนถึงการส่งมอบ และติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ล่าสุด MEA ได้ดำเนินโครงการ "มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน." ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

MEA ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริการทั้งหมด ให้เป็น Fully Digital Service ภายในปี 2568 โดยในปัจจุบัน MEA ได้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านระบบ e-Service ในทุกช่องทาง ตั้งแต่ MEA Smart Life Application จะเพิ่มฟังก์ชันการแจ้งเตือนไฟฟ้าดับบริเวณกว้างให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับรู้ในรูปแบบรายบุคคล โดยการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM ที่ MEA ใช้สั่งการแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องในปัจจุบัน เชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS เพื่อระบุขอบเขตพื้นที่ไฟฟ้าดับ ทำให้ลดภาระการติดต่อสอบถามผ่าน MEA Call Center 1130 ได้ รวมถึงการเตรียมพร้อมฟังก์ชันรองรับ Smart Meter ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในรูปแบบ Real-Time

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Virtual District รองรับระบบบริการผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ เช่น รองรับการยืนยัน-ตัวตนออนไลน์ การรับและจัดเก็บเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาระบบจ่ายงาน บันทึกผลการปฏิบัติงาน อนุมัติงานในระบบออนไลน์ผ่าน Smart Devices และจะมีการปรับปรุงช่องทาง MEASY เป็นศูนย์รับบริการให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในจุดเดียว รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงช่องทาง MEA Line Connect กับการฟังก์ชันการทำงานของ MEA Smart Life Application และ MEASY เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการของ MEA ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในส่วนโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน MEA ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพิ่มความปลอดภัย พร้อมทั้งปรับปรุงทัศนียภาพ ซึ่ง MEA ได้ดำเนินโครงการรวมระยะทางทั้งสิ้น 236.1 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2570 โดยปัจจุบัน มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร โดยในจำนวนนี้จะมีพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ร่วมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เพื่อลด ความซ้ำซ้อนในการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในคราวเดียวกัน

MEA ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เพียงพอ ปลอดภัย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงาน และคิดค้นนวัตกรรมการบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีความพร้อมที่จะร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป