"บิ๊กป้อม" ชู 12 เมืองเก่า เน้นคุณค่า คงอัตลักษณ์ เสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ

 

วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 น. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมดังกล่าว

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เพื่อให้สามารถรักษาอัตลักษณ์และบริบทของเมืองเก่าให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยได้เห็นชอบต่อแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าสงขลา ที่จะผลักดันให้เมืองเก่าสงขลามุ่งสู่การเป็นเมืองอนุรักษ์อย่างสากล รวมถึงเร่งขับเคลื่อนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าให้ครบถ้วนทั้ง 36 เมือง จากที่ดำเนินการไปแล้ว 24 เมือง และให้ดำเนินการในอีก 12 เมือง อย่างเร่งด่วน (ได้แก่ เมืองเก่ากำแพงเพชร ตะกั่วป่า เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง และฉะเชิงเทรา) ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบกลาง ปี 2566 ให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อการนี้ นอกจากนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการเมืองเก่าที่สำคัญในระดับจังหวัด เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วม อันจะเป็นการปกป้องเมืองเก่าให้คงคุณค่าพร้อมไปกับการพัฒนาเมืองเก่าให้สอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รายเมือง ทั้ง 36 เมือง ให้มีสัดส่วนของภาคส่วนต่างๆ ที่เหมาะสมและสมดุล ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญต่อรูปแบบอาคารที่จะก่อสร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ต้องสอดคล้องกับบริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเอื้อประโยชน์ต่อการใช้สอยและอนุรักษ์พลังงาน จึงได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก โดยอาคารดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างการออกแบบอาคารของภาครัฐที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป

ผลจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานอนุรักษ์ และพัฒนาในกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าความสำคัญ จะนำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับสร้างงานและสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงส่งเสริม และกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชน ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจและความตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเก่า