กรมอนามัย หนุนโรงเรียนจัดชุดอาหารกลางวันต้องมีคุณภาพ โภชนาการดี หมุนเวียนเมนู เพื่อสร้างการเจริญเติบโต และพัฒนาสติปัญญา

 

(29 พ.ค. 65) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า หลังจากเปิดภาคเรียน แบบ On-Site เต็มรูปแบบในทุกโรงเรียนแล้ว สิ่งที่โรงเรียนต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับเด็กวัยเรียนคือ การได้รับอาหารกลางวันที่มีโภชนาการครบถ้วน ปริมาณเหมาะสม ถึงแม้จะเป็นเพียง 1 มื้อ แต่ควรเป็นมื้อที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้เด็กวัยเรียนได้รับอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการทำกิจกรรมในช่วงครึ่งวันบ่าย อีกทั้งเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็กวัยเรียนอีกด้วย เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ จดจำ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นปกติ เพราะหากร่างกายได้รับพลังงาน และสารอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เหมาะสมตามวัย เช่น ตัวเล็ก เตี้ย แคระแกร็น ภูมิต้านทานต่ำ ด้อยสติปัญญาต่ำ เรียนรู้ช้า และในทางตรงข้าม หากได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ จนนำไปสู่การเป็นโรคอ้วน และโรคอื่น ๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยเรียน ได้รับปริมาณอาหารกลุ่มข้าว – แป้ง ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยจัดให้เด็กระดับอนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ควรได้รับ 1.5 ทัพพี ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 (อายุ 6-8 ปี) 2 ทัพพี ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6  (อายุ 9-12 ปี) 3 ทัพพี ส่วนเนื้อสัตว์เด็กระดับอนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ควรได้รับ 1.5 ช้อนกินข้าว ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-3 (อายุ 6-8 ปี) 2 ช้อนกินข้าว ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 (อายุ 9-12 ปี)        2 ช้อนกินข้าว นอกจากนี้ เด็กวัยเรียนควรได้รับผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน และนมจืด 1 แก้ว เพื่อให้เด็กวัยเรียนเติบโตสมวัย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากปริมาณอาหารที่เด็กวัยเรียนควรได้รับแล้ว เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ควรมีการวางแผนการจัดอาหารกลางวันตามมาตรฐานอาหารกลางวันในโรงเรียนไทย โดยมีรูปแบบการจัดชุดสำรับอาหารกลางวันหมุนเวียน 5 วันทำการต่อสัปดาห์ (จันทร์ – ศุกร์) โดยข้าวและกับข้าว ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง/สัปดาห์ ใช้ผักหลากหลาย หลากสี ควรใช้ผักตามฤดูกาลอาหารจานเดียวไม่เกิน 1 ครั้ง/สัปดาห์ มีผลไม้ทุกวัน และไม่ควรมีขนมหวานมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ เนื้อสัตว์สลับหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ปลาหรือผลิตภัณฑ์จากปลาอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ ไข่ 2-3 ฟอง/สัปดาห์/คน มีตับ เลือด เต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ถั่วเมล็ดแห้ง เผือก มัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีรายการอาหารที่ใช้น้ำมันหรือกะทิอย่างน้อย 1 อย่าง ในแต่ละมื้อ แต่ไม่ควรจัดรายการอาหารที่ใช้น้ำมันปริมาณมาก มีเมนูที่ใช้กะทิไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์ ควรใช้เกลือ หรือน้ำปลาเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร

“กรณีจัดอาหารประเภทผัด แกงกะทิ อาหารทอด อาหารจานเดียวประเภทผัด ควรจัดคู่กับผลไม้ อาหารต้ม นึ่ง แกงไม่ใช้กะทิ อาหารจานเดียวประเภทน้ำ ให้จัดคู่กับขนมหวานมีกะทิ อาหารว่าง หากเป็นประเภทขนมปัง ควรเลือกไส้ที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ขนมปังไส้ไก่หยอง ส่วนขนมไทยควรเลือกขนมที่มีส่วนประกอบของถั่วต่าง ๆ ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว