กรมควบคุมโรค เผยผลการจัดอันดับ 5 โรคติดต่อสำคัญระหว่างสัตว์และคน ที่ต้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคอีโบลา ซึ่งเครือข่ายพร้อมตอบรับการดำเนินการ เน้นพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการ ย้ำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผนวกกำลังกัน ไทยจึงปลอดภัย

 

วันนี้ (17 พฤษภาคม2565) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุมจัดลำดับความสำคัญของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ที่โรแรมอมารี ดอนเมือง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ผลการจัดอันดับ 5 โรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคนที่ต้องเฝ้าระวังร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช และยังได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US.CDC) ประจำประเทศไทย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (FAO) และผู้เข้าร่วมประชุมจากสหสาขาวิชา รวมถึงองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าร่วมให้ข้อมูลและจัดอันดับ

สำหรับโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5 อันดับแรกจากที่ประชุม ได้แก่ 1.โรคไข้หวัดนก (Zoonotic avian influenza) 2.โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19, SARS, MERS) 3.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus) 4.โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และ 5.โรคอีโบลา (Ebola) ซึ่งทั้ง 5 โรคนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนาระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น พร้อมจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว

นอกจากนี้ ผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายยังหารือโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนอีกหลายโรค อาทิ โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) โรคเมลิออย (Melioidosis) โรคไข้หูดับ ก่อโรคโดยเชื้อ Streptococcus suis และโรคมาลาเรียที่ก่อโรคโดยเชื้อ Plasmodium Knowlesi เพราะสถานการณ์มีแนวโน้มพบสูงขึ้นและต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผนวกกำลังกันจึงจะลดความเสี่ยงและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้