กรณีน้องเฟิร์ส วัย 14 ปี จาก จ.เชียงราย ร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นในรายการหนึ่ง ถึงนโยบายแก้ไขปัญหาหมูมีราคาแพง โดยเสนอให้ ระยะแรก  ชดเชยเกษตรกร ซึ่งตอนนี้ขายหมูแล้วขาดทุน และเร่งส่งเสริมการสร้างรายได้จากหมู ทั้งเรื่องแม่พันธุ์

ระยะกลาง คือ ให้เกษตรกรกู้เงินระยะสั้น เอาไปพัฒนาฟาร์มหมูให้สามารถป้องกันโรคได้ รวมถึงสั่งหมูมาจากต่างประเทศ

ระยะสุดท้าย ส่งเสริมบูรณาการทุกอย่างให้เป็น Smart Farmer ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาจัดการ รวมถึงส่งเสริมคุณภาพหมู คุณภาพสินค้า รวมถึงพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ

เราลองมาดูกันว่า จากแนวคิดนโยบายของน้องเฟิร์ส ณ ปัจจุบัน รัฐบาลได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเหมือนและคล้ายคลึงกับน้องเฟิร์สหรือไม่ อย่างไร

เบื้องต้น นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เผยแนวทางแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาว โดยกรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ โดยคาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง4 ล้านตัน/ต่อปี 

นายประภัตรยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดัน “ปศุสัตว์ Sandbox” หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกรัฐมนตรีโดยด่วน

ส่วนนโยบายระยะสั้น เกี่ยวกับการชดเชยเกษตรกร ปัจจุบันครม.ได้อนุมัติงบกลาง 570 ล้านบาท แก้ไขปัญหาหมูตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูแล้ว .