ในห้วงที่สังคมไทยกำลังรอการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูของรัฐบาล โดยมีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักนั้น

เราลองมาทบทวนองค์ความรู้ถึงที่มาที่ไปของโรคนี้กันอีกสักครั้ง

โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ African swine fever : ASF เป็นโรคไวรัสติดต่อร้ายแรงในหมู แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูอย่างมาก เพราะปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

ทั้งนี้ หมูบ้านจะมีความไวต่อโรค และหมูป่าจะเป็นแหล่งรังโรค ซึ่งพบการระบาดครั้งแรก เมื่อปี 2464 ในทวีปแอฟริกา ต่อมาปี 2500 พบการระบาดในยุโรป ก่อนจะกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

กระทั่งปี 2561 -2 มิ.ย. 2562 พบสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูอย่างต่อเนื่อง ใน 20 ประเทศ (เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี ลัตเวีย มอลโดวา สาธารณรัฐโปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ยูเครน ชาด โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ สาธารณรัฐแซมเบีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มองโกเลีย ราชอาณาจักรกัมพูชา เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และประเทศเกาหลีเหนือ)

แล้วรู้หรือไม่ว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู มีความคงทนในผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมสูง โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยของสภาพแวดล้อม อุณหภูมิ และความชื้น

 โดยการแพร่ของโรคจะติดต่อได้ทางการกิน หายใจ บาดแผล และถูกเห็บอ่อนที่เป็นพาหะกัด

ส่วนโรคอหิวาต์ในหมู หรือ (Classical Swine Fever; CSF หรือ Hog Cholera) มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส classical swine fever virus (CSFV) ซึ่งโรคนี้มีวัคซีนป้องกัน โดยจะฉีดให้พ่อแม่หมู และลูกหมู แต่การรักษาโดยตรงไม่มี ดังนั้น มีการศึกษากันว่า การฉีดวัคซีนให้หมูทุกตัว ในช่วงระบาด จะลดความสูญเสียได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าหมูจะติดเชื้ออหิวาต์ธรรมดาหรือเเอฟริกา หากพบว่าหมูตายจะต้องทำลายด้วยการฝังและเผาซากอย่างถูกวิธี .