สาวลึก! เอกสารมัด ที่แท้รัฐรู้ ‘อหิวาต์ในหมู’ ระบาดตั้งแต่ปี 62 ไฉนแก้ไม่สำเร็จ ศก.เสียหาย หวั่นซ้ำรอย ‘ลัมปี สกิน’ ในโคกระบือ เกษตรกรรับกรรม

 

สาธารณชนคงรับทราบกันแล้วว่า ปัจจุบันไทยเผชิญกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ซึ่งกรมปศุสัตว์แถลงยอมรับทางการไปเมื่อวันก่อน ในขณะที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับหน่วยงานภาครัฐว่า แท้ที่จริงแล้ว ปกปิดข้อมูลการระบาดหรือไม่

ความจริงแล้ว เรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยหลักฐานที่ยืนยันข้อค้นพบนี้ คือ หนังสือขออนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูในประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ลงนามโดย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ในขณะนั้น ลงวันที่ 5 เม.ย. 2562

ในหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุข้อเท็จจริงของสถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์ฯ ในหมู สาระสำคัญว่า สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูในทวีปเอเชียมีการระบาดในวงกว้าง เริ่มจากประเทศจีนในปัจจุบัน  พบการระบาด 113 ครั้ง ใน 28 จังหวัด ประเทศมองโกเลีย 10 ครั้ง ใน 6 จังหวัด และล่าสุด พบการเกิดโรคในประเทศเวียดนาม เมื่อ 20 ก.พ. 2562 และพบการระบาดทั้งสิ้น 221 ครั้ง ใน 17 จังหวัด

นายกฤษฎา ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดมายังประเทศไทย หากไม่มีมาตรการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม อันเกิดจากปัจจัยหลายประการ

1.การลักลอบผลิตภัณฑ์หมูติดตัวของนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี

2.การลักลอบนำผลิตภัณฑ์หมูและซากหมูผ่านช่องทางนำเข้าชายแดน เนื่องจากขณะนี้เริ่มมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีขอบเขตพื้นที่ชายแดนมีระยะทางยาว ส่งผลให้มีโอกาสลักลอบเคลื่อนย้ายหมู ซากหมู และผลิตภัณฑ์หมูได้

3.ความเสี่ยงปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากตัวเกษตรกรหรือสัตวแพทย์ที่ไปดูงานในประเทศที่มีการระบาดของโรค

4.ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกหมู และอาหารหมูไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ในหนังสือยังมีการคาดการณ์ หากไม่มีการดำเนินการเตรียมความพร้อม ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมที่ดี และเกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์ฯ จะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ดังนี้

ข้อมูล ณ ปี 2562

ไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 2.1 แสนราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 2 แสนราย เลี้ยงหมูขุน 8 หมื่นตัว หมูพันธุ์ 6.3 หมื่นตัว ลูกหมู 7.3 แสนตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 2.7 พันราย เลี้ยงหมูขุน 8.8 ล้านตัว หมูพันธุ์ 1.1 ล้านตัว และลูกหมู 4.6 ล้านตัว ดังนั้น หากเกิดโรคระบาด จะต้องมีการทำลายหมูเกิดการสูญเสีย ดังนี้

กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของหมูที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 1.6 พันล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 1.9 หมื่นล้านบาท รวม 2.1 หมื่นล้านบาท

กรณีมากที่สุด เกิดโรคร้อยละ 100 ของหมูที่เลี้ยง เกษตรกรรายย่อย 5.5 พันล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่ 6.4 หมื่นล้านบาท รวม 7 หมื่นล้านบาท

นี่ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะตามมาอีกนับหลายพันล้านบาทต่อปี

จากข้อมูลที่ปรากฎตามเอกสารยื่นเข้าสู่ที่ประชุม ครม. นั่นแสดงให้เห็นและเชื่อได้ว่า กระทรวงเกษตรฯ รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูมานานแล้ว จวบจนถึงปัจจุบันก็ร่วม ๆ 3 ปี

แต่ไฉนเลย แนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดจึงไม่สัมฤทธิ์ผล...ฤาจะซ้ำรอยโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือหรือไม่

ประเภทไม่เป็นข่าว...ก็ไม่รีบแก้ไข นั่นเอง .