ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบทุกข้อสงสัยผ่านรายการเกษตรบอกข่าว ของกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับประเด็นฮอตเวลานี้ ซึ่งหนีไม่พ้น ‘หมูราคาแพง’ จนกลายเป็นประโยคแซะรัฐบาลในโลกออนไลน์ว่า “ยุคหมู 4 โล พัน”

กรณีที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิอาจนิ่งเฉยได้

ดร.ทองเปลว ในฐานะตัวแทนรัฐบาล จึงออกมาให้ข่าว โดยระบุถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เนื้อหมูมีราคาแพง เกิดจาก “ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น” ไม่ว่าจะเป็น อาหารสัตว์ ยารักษาโรค รวมถึงก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางมีความตื่นตระหนกต่อข่าวเกี่ยวกับการเกิดโรคระบาดในหมู ทำให้ช่วงก่อนหน้านั้น เกษตรกรจึงเร่งจำหน่ายหรือเร่งขายหมูที่มีชีวิตออกจากฟาร์ม

 

“ปัจจุบันหมูมีชีวิตในระบบการผลิตจึงมีปริมาณลดลง ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปลายปี 2564”

 

ปลัด กษ. กล่าวว่า ในระบบหมูที่มีชีวิตมีอยู่ประมาณ 20 ล้านตัว ส่งออกตลาดต่างประเทศ 1 ล้านตัว ส่วนที่เหลือจะบริโภคภายในประเทศ เมื่อมีการลดการผลิตจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลาง นั่นจึงทำให้จำนวนหมูที่มีชีวิตในระบบหายไปราวร้อยละ 20 หรือประมาณ 4-5 ล้านตัว ดังนั้น เมื่อการผลิตมีน้อย แต่ความต้องการมีมาก ทำให้ราคาของเนื้อหมูแพงขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลและรมว.เกษตรฯ จึงมอบหมายให้กรมปศุสัตว์หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน โดยเน้นการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

-ระยะเร่งด่วน

ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า เมื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น จะต้องลดการส่งออกหมูมีชีวิตไปต่างประเทศ เป็นเวลา 3 เดือน  ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. -5 เม.ย. 2565 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และสนับสนุนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางเลี้ยงหมูมากขึ้น โดยจะได้รับการช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น งดเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียบหรือภาษี ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขกลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตหมู เพื่อกำหนดเป้าหมาย มาตรการที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแม่หมูทดแทน โดยให้หมูขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราวและเจรจากับฟาร์มรายใหญ่ ให้การกระจายพันธุ์ลูกหมูขุนให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่ต้องการกลับเข้ามาเลี้ยงหมู

-ระยะสั้น

ปลัด กษ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นฤดูแล้ง ฉะนั้นอาหารเลี้ยงสัตว์สำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก.เกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ จะทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ถัดมา คือ การขยายกำลังการผลิตแม่หมูและศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อลดการสูญเสียจากโรคระบาด

-ระยะยาว

ยกระดับมาตรฐานการปรับปรุงระบบมาตรฐานในฟาร์ม ป้องกันโรคให้ดีขึ้น ใช้ยุทธศาสตร์การควบคุมโรคระบาดและเท้าเปื่อย ติดตามการเคลื่อนย้าย และศึกษาปรับปรุงพันธุ์ สินเชื่อต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน และ รมว.เกษตรฯ ยังสั่งการให้กรมปศุสัตว์ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายย่อยเพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือให้ทันสถานการณ์ เข้าถึงแหล่งสินเชื่อมีดอกเบี้ยต่ำ สะดวกรวดเร็ว และ ก.พาณิชย์ เปิดจุดบริการ 667 จุด จำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก เพิ่มช่องทางการซื้อ ถึงสิ้น ม.ค.

ดร.ทองเปลว เชื่อว่า จากการดำเนินการ จะสามารถบรรเทาปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ให้ราคาเข้าสู่ระบบเหมือนเดิมได้

ส่วนโรคระบาดใหญ่ในหมูนั้น ปลัด กษ. กล่าวว่า มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู โดยมี รมว.เกษตรฯ รับมอบภารกิจจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ตั้งแต่ปี 2562 ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้

อีกทั้ง ครม.มีมติอนุมัติโรคดังกล่าว เป็นวาระแห่งชาติ และแต่งตั้งคณะกรรมการฯ มีนายจุรินทร์เป็นประธาน ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และวิเคราะห์ช่องทางเสี่ยงในประเทศไทย มีการตรวจยึดผลิตภัณฑ์หมูที่มีการลักลอบนำเข้ามายังไทย  3,741 ตัวอย่าง ตั้งศูนย์บัญชาการ ประเมินพื้นที่เสี่ยง และอนุมัติงบกลาง ปี 2563 ดำเนินการในเรื่องนี้