เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 'อานนท์-ไมค์-รุ้ง' ล้มล้างการปกครอง สั่งเลิกกระทำการเดิมซ้ำในอนาคต

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีที่นายณฐพร โตประยูร เป็นผู้ร้อง นายอานนท์ นําภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, นางสาวสิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนางสาวอาทิตยา พรพรม เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-8 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีที่คณะบุคคลประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มภาคีเครือข่าย ได้ใช้สถานที่ต่าง ๆ ในการจัดเวทีชุมนุม อันเป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย เป็นการกระทําที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และก่อให้เกิดความแปลกแยก ปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยทำเป็นขบวนการ นำแนวคิดมาจากพรรคอนาคตใหม่ซึ่งคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ปรากฏสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว และไม่ยอมรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข รวมถึงการปราศรัยในสถานที่สาธารณะหลายครั้ง

โดยเอกสารคำร้องระบุถึงการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 เวทีเสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยครั้งสำคัญคือเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ซึ่งกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร์สามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
  3. ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยูภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
  4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดิน ที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
  7. ยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
  9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร์ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์
  10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง เกี่ยวกับการจัดชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ดังกล่าวซึ่งมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คนคือ นายอานนท์ นําภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ส่วนการชุมนุมครั้งอื่นไม่ปรากฏว่านายณฐพร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา ให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการ และส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบสรุปได้ว่า

  1. คำร้องและข้อกล่าวหาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เนื่องจากไม่ปรากฏสภาพสภาพแห่งข้อหาที่ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองอย่างไร ส่วนความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 และ ม.116 นั้น การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นความผิดต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย
  2. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ยุติหรือเลิกการกระทำได้ เนื่องจากการกระทำได้สิ้นสุดลงแล้ว ทั้ง 3 คนมิได้มีความมุ่งหมายในการล้มล้างการปกครอง
  3. การชุมนุมของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 44
  4. ข้อเรียกร้องทางการเมืองทั้ง 3 ประการ และข้อเสนอ 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ให้การพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวน โดยให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกให้ ผกก.สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, ผบ.ตร., เลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ส่งข้อมูลพยานหลักฐาน และให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งสำเนาสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ดังกล่าวต่อศาล

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พยานหลักฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีมีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ปัญหาข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว ส่วนปัญหาข้อกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลมาให้ความเห็น จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของนายอานนท์ นําภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และการให้ยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะอันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินความพอเหมาะพอควร กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองฯ ในที่สุด ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้การรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองฯ แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คนเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปรากฏว่าภายหลังทั้ง 3 คนยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย อ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต ละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

อาศัยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายอานนท์ นําภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 1-3 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง