กกท.สั่งแก้กฎหมายด่วน! ควบคุมการใช้สารกระตุ้น หลัง 'วาด้า' ประกาศแบนนักกีฬาไทย 1 ปี ผิดข้อบังคับสากล ฟากอินโดนีเซีย-เกาหลีเหนือโดนด้วย

 

กรณีองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) หรือวาด้า ประกาศไม่ให้การรับรอง ไทย, เกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย โดยประเทศไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีป หรือระดับโลก เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยอินโดนีเซียและเกาหลีเหนือถูกแบนเนื่องจากศูนย์ตรวจหาสารต้องห้ามในประเทศไม่มีอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจหาสารต้องห้ามที่มีประสิทธิภาพ

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เปิดเผยว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างรับการประเมินผลการดำเนินการต่อต้านการใช้สารต้องห้าม โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. Audit Programs เป็นการตรวจสอบประเมินการปฏิบัติงานของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ซึ่ง กกท.ได้ดำเนินการแก้ไข และการปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะของ WADA และยังอยู่ในระหว่างการตรวจประเมินของ WADA ซึ่งจะสิ้นสุด ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
  2. Continuous Monitoring Program ซึ่ง WADA ได้ให้การรับรองกฎการต่อต้านการใช้ สารต้องห้ามของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เรียบร้อยแล้ว
  3. พระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ซึ่ง WADA ได้ทำการตรวจสอบพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พบว่า มีข้อกำหนด ในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตามที่ประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ฉบับ ค.ศ. 2021 กำหนดไว้

ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 โดยคณะรัฐมนตรี มีมติมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาฯ อาทิ การกำหนดให้หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการใช้สารต้องห้ามของประเทศไทย เป็นหน่วยงานอิสระ แก้ไขบทนิยามเกี่ยวกับสารต้องห้ามทางการกีฬา เป็นต้น โดยให้สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก โดยให้พิจารณารูปแบบความเหมาะสมที่จะตราเป็นกฎหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปโดยเร็ว

หากประเทศไทยดำเนินการแก้ไขกฎหมายล่าช้า จะส่งผลให้ไม่สามารถส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ หรือเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้ อันจะทำให้กระทบต่อวงการกีฬาของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อนานาประเทศ รวมทั้ง าจสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก จึงสมควรแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ภายใน 3-4 เดือน โดยขณะนี้ การดำเนินการอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำหรับมหกรรมกีฬาที่ไทยจะแข่งขันในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนี้ ได้แก่ กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 4-20 ก.พ., กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ที่ประเทศไทย (ยังไม่กำหนดวันเวลาแน่นอน), กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ในเดือน พ.ค.ที่ประเทศเวียดนาม, กีฬาเวิลด์เกมส์ ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 7-22 ก.ค. และกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหังโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.