รายงานพิเศษ : กรณีศึกษา ปมเจ้าของลันตา -นักวาดภาพ เก็บเถ้ากระดูกนิ้ว อ.ถวัลย์ ดัชนี บูชา กับปัญหาละเมิดสิทธิ ด้านทายาทลั่นขอให้หยุดเเอบอ้าง เเขวนคอเพื่อมีพลัง

 

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตและนำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับกรณี ดร.สุขุม มีพันแสน ศิลปินวาดภาพ และเจ้าของรีสอร์ทและร้านอาหารเกาะลันตาที่ออกมายอมรับว่า ได้เก็บเถ้ากระดูกนิ้วของ ‘อ.ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2544 ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ไว้จริง!

ดร.สุขุม อ้างว่า ต้องการนำมาบูชา เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ โดยได้เซ็นเอกสารรับมอบ เมื่อ 9 พ.ค. 2562

ทว่า ภายหลังเมื่อถูกทวงถามจากสังคมและ ดร.ดอยธิเบศร์ บุตรชายของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ ทำให้ ดร.สุขุม ตัดสินใจส่งคืนเถ้ากระดูกชิ้นนี้ให้แก่ทายาท

โดยเขารู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมากที่ถูกโจมตีว่านำเถ้ากระดูกไปแอบอ้างเพื่องานศิลปะ จึงอยากขอโทษครอบครัวและทายาทของอาจารย์ถวัลย์ดัชนี มา ณ โอกาสนี้ด้วย

ขณะที่ ดร.ดอยธิเบศร์ ส่งสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง ดร.สุขุม มีพันแสน ใจความสำคัญ คือ กล่าวขอบคุณที่คืนกระดูกพ่อผมที่ได้ไปโดยมิชอบ ให้กลับไปอยู่ในที่ๆ ควรอยู่

 

“ความยิ่งใหญ่ของอาจารย์ถวัลย์ ไม่ได้อยู่ที่กระดูกของท่าน หากแต่เป็นผลงานและคุณความดีที่สร้างทิ้งไว้ให้แก่โลก กระดูกของท่านเป็นสิ่งแทนใจสำหรับทายาทและทุกคนในตระกูลดัชนี เพื่อเอาไว้กราบไหว้บูชา และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านตามประเพณี”

 

ดร.ดอยธิเบศร์ ยังระบุขอให้ครั้งนี้เป็นบทเรียนแก่คุณสุขุม และสังคมให้ได้เรียนรู้ถึงเรื่อง การละเมิดและเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ในฐานะที่คุณสุขุมเป็นผู้ใหญ่ มีอายุและประสบการณ์ชีวิตมากกว่าผม ผมขอร้องว่า "ขอให้หยุดพฤติกรรมแอบอ้างถึงกระดูกอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ในทางที่จะนำมาซึ่งความเสียหายต่อชื่อเสียง และชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า เอากระดูกมาแขวนคอแล้วมีพลัง หรือกล่าวอ้างว่าติดต่ออาจารย์ถวัลย์ ได้ทางจิต หรือกระทำการอื่นใดก็ตาม ที่จะส่งผลเสียในทุกๆมิติ ต่อ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และครอบครัวดัชนี"

ผมขอยืนยันว่าหาก คุณสุขุม มีพันแสน รวมถึงใครก็ตาม หากละเมิดไม่ว่าทางหนึ่งทางใดในทุกมิติ และส่งผลเสียต่ออาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ผมในฐานะทายาทผู้สืบสันดานแต่เพียงผู้เดียว, ผู้จัดการมรดกของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ตามคำตัดสินของศาลสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว, ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี แต่เพียงผู้เดียว และผู้จัดการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ จะขอดำเนินคดี ตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยถึงที่สุด

นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาในสังคมไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้เสียชีวิตที่น่าสนใจ

(อ่านประกอบ : ส่งคืนเเล้ว! เจ้าของลันตารีสอร์ทขอโทษทายาท นำเถ้ากระดูก อ.ถวัลย์ มาบูชา)

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า อ.ถวัลย์ ดัชนี ถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่ง ท่านมีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศ สามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปี ทั้งที่เชียงรายและพะเยา แล้วเมื่อมีอายุ 8-9 ขวบ มีความคิดแผลงๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้น เป็นต้น

เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย อ.ถวัลย์ได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม มีผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"

ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

ทั้งนี้ ภาพเขียนของ อ.ถวัลย์ ในยุคหลังคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้้ ทำให้เขา เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม

ที่แห่งนี้เองที่ อ.ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำใหถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ เขาต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึง สามสิบกว่าปี

ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย

ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลายๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle)" ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า

ภาพประกอบ : เว็บไซต์ผู้จัดการ